“วัคซีนโควิด” พลิก ราคาน้ำมันโลกแตะ 45-55 USD ปี 46
นักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน ปตท. ระบุ วัคซีนโควิด ผลักดันให้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปี 2564 จะอยู่ที่ระดับ 45 – 55 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท. (PRISM Expert) ร่วมกับ กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดงาน The Annual Petroleum Outlook Forum พร้อมกับคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2564 ว่า จะอยู่ที่ระดับ 45 – 55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยจะปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2563 เนื่องด้วยสัญญาณบวกจากความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนานาประเทศ และแนวโน้มการใช้พลังงานทดแทน
อย่างไรก็ตามทีมนักวิเคราะห์ มองว่า การฟื้นตัวของตลาดน้ำมันยังคงมีความเสี่ยง หากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เกิดการระบาดต่อเนื่องและยังไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวที่ระดับ 35 – 45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการวิเคราะห์สถานการณ์พลังงานที่น่าสนใจจากทีม PRISM Expert ของกลุ่ม ปตท. และการร่วมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ จะช่วยเตรียมความพร้อมในการวางแผนการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ หลังโลกและธุรกิจต่างๆ รวมถึงธุรกิจพลังงานเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก
เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกหยุดชะงัก รวมถึง รูปแบบการดำเนินธุรกิจและวิถีการดำเนินชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป ความรวดเร็วที่จะพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลพลังงานให้สังคมมีความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง สร้างความเข้มแข็งในสังคมไทยด้วยความรู้จริง จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วนทั้งในวันนี้และอนาคต เพื่อร่วมกันสร้างการเติบโตของสังคมและเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth for All) ตามนโยบายของ กลุ่ม ปตท.”
ขณะที่ นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เผยถึงทิศทางของตลาดน้ำมันโลก ว่า COVID-19 เป็น จุดเปลี่ยนสำคัญทำให้ความต้องการใช้น้ำมันในปี 2563 ปรับลดลงมากที่สุดเป็นประวัติกาล ส่งผลให้หลายฝ่ายรวมถึงผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกรวมตัวกันเพื่อหาทางรักษาสมดุลให้กับตลาดน้ำมัน โดยปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว คือ การผลิตวัคซีนป้องกัน COVID-19 รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และนโยบายการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนที่มีบทบาทสำคัญ เพื่อช่วยสร้างสมดุลการเติบโตเศรษฐกิจในอนาคต