เปิดโมเดล “ธุรกิจยา-เวชภัณฑ์” พลิกโฉม ปตท.
ปตท. เดินหน้าลุย ธุรกิจยา-เวชภัณฑ์ วางกลยุทธ์เร่งโตภายใน 5 ปี มุ่งสู่ อุตสาหกรรมครบวงจร
หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เมื่อ 18 พ.ย.63 มีมติอนุมัติจัดตั้ง บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ซึ่งถือหุ้นร้อยละ 100 โดยบริษัท ปตท. โกลบอล แมนเนจเมนท์ จากัด (PTTGM) (บริษัทย่อยของ ปตท.) ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรกไม่เกิน 300 ล้านบาท และอนุมัติเพิ่มทุนเป็นประมาณ 2,000 ล้านบาท
เพื่อรองรับการลงทุนของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท. ในธุรกิจใหม่:Life Science อาทิ ธุรกิจยา ธุรกิจ Nutrition ธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์ เป็นต้น
พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพความสามารถของ ปตท. ในด้าน Life science และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ
ล่าสุด นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด เผยถึงแผนการดำเนินงาน บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ว่า แผน 10 ปีที่วางไว้ โดย ในปีที่ 1-5 จะเน้น การลงทุนด้านการผลิต และ การตลาดไม่ว่าจะเป็นยาสามัญ ยาชีววัตถุเป็นผลิตภัณฑ์ยาที่ได้จากสิ่งมีชีวิต ซึ่งอาจจะไปหาพันธมิตรต่างประเทศ โดยเข้าไปซื้อกิจการหรือร่วมทุนกับบริษัทที่ได้ทำธุรกิจนี้อยู่แล้ว เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้เร็วขึ้น
“หลังจากบอร์ด ปตท. ได้อนุมัติจัดตั้ง บริษัท อินโนบิก ในปี 64 จะมีการจัดทำแผนกลยุทธ์ เลือกตัวยา ที่จะนำมาพัฒนา คัดเลือกบุคลากรทีมงาน ประมาณ 15-20 คน พร้อมกับจัดตั้งคณะกรรมการบริหาร บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นคนนอกเข้าร่วม เพื่อมากำกับทิศทางการดำเนินงาน โดยคาดว่าจะเริ่มมีผลิต ผลิตภัณฑ์ ออกมาจำหน่ายได้ประมาณปี 2565 เช่น ยา ถุงมือยาง อาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น”
ส่วนปีที่ 5-10 จะเริ่มผลิตสารที่ทำยา และขยายขีดความสามารถ การวิจัยและพัฒนา เพื่อมุ่งไปสู่ระดับอุตสาหกรรมซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มไปแล้ว โดยการร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พัฒนายาชีววัตถุ และ องค์การเภสัชกรรม วิจัยยาเกี่ยวกับโรคมะเร็ง เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตต่อไป
คาดว่าโรงงานผลิตยารักษามะเร็ง ที่ร่วมกับ องค์การเภสัชกรรม จะเริ่มก่อสร้างในปี 2565 ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมวนารมย์ของ ปตท. หรือ PTT WEcoZi อ.บ้านฉาง จ.ระยอง จะใช้เวลาประมาณ 14 เดือนแล้วเสร็จ สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2570 ซึ่งจะมีการผลิตยาประมาณ 80 ตัวยา ส่วนใหญ่จะเป็นยารักษามะเร็ง ปอด ตับ และเม็ดเลือด 70 % จะใช้ในประเทศ ส่วนอีก 30 % จะส่งออก
สำหรับที่มาของ ธุรกิจ Nutrition นายบุรณิน บอกว่า ได้มองเรื่องของการทำอาหารให้เป็นยา เพราะตลาดอาหารที่เป็นยามีแนวโน้นเติบโตดี และเป็นตลาดที่ใช้เวลาพัฒนาสั้น เพราะขบวนการไม่ละเอียดเท่าการผลิตยา ซึ่งตลาดที่ใหญ่ที่สุดเป็นตลาดเอเชีย
“ชาวเอเชียจะคุ้นชิน อาหารที่เป็นยาอยู่แล้วอย่าง จีน อินเดีย ที่ได้นำ เครื่องเทศ สมุนไพร มาทำอาหารที่มีคุณสมบัติคล้ายๆยา ซึ่งเราจะทำการวิจัย พัฒนา ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมากกว่าอาหารเพื่อสุขภาพ มีความพิเศษมากกว่าอาหารทั่วๆไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าด้านการเกษตร ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกขั้นตอนของพืชสมุนไพร”
ส่วน ธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์ อาทิ หน้ากากอนามัย ชุดป้องกันต่างๆนั้น นายบุรณิน บอกว่า จะเป็นการพัฒนาต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมีคอลที่มีวัตถุดิบอยู่แล้ว และวางเป้าหมายในอนาคต จะผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ชิ้นใหญ่ ประเภท ขึ้นรูป มีความทนทาน เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศอีกด้วย