“สุพัฒนพงษ์” ลั่น 1 ปีชี้ชะตาโรงไฟฟ้าชุมชน
สุพัฒนพงษ์ ระบุ อนาคต โรงไฟฟ้าชุมชน จะอยู่หรือไป อีก 1 ปี ชัดเจน ย้ำเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องรอบครอบในทุกขั้นตอน
เมื่อ 16 พ.ย.63 ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม เห็นชอบ แนวทางการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน ตามมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 นำร่อง โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 150 เมกะวัตต์
โดยแบ่งเป็นเชื้อเพลิงจาก ชีวมวล 75 เมกะวัตต์ ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ และ ก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย ≤ 25 %) มีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน ไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ เพดานราคารับซื้อไฟฟ้า 4.26 – 4.84 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 20 ปี
ส่วนกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) นั้น นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน บอกว่าจะเกิดขึ้นภายใน 36 เดือน นับถัดจากวันลงนามในสัญญาฯ ซึ่งจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) แบบแข่งขันทางด้านราคา โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้เสนอโครงการ
สำหรับการแบ่งปันผลประโยชน์ อาทิ การให้หุ้นบุริมสิทธิ ร้อยละ 10 ให้กับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย) ที่เป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า การให้ผลประโยชน์อื่น ๆ
โรงไฟฟ้าและชุมชนต้องทำความตกลงกันเอง เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เช่น ด้านการสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภค ด้านการศึกษา เป็นต้น
นายสุพัฒนพงษ์ บอกว่า กระทรวงพลังงานมีความตั้งใจทำโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน มานานแล้ว แต่เนื่องจาก เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ทำยาก มีผลกระทบมาก โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ทำให้กระทรวงพลังงานจะต้องระมัดระวังมาก ต้องใช้เวลาในเรื่องนี้ จึงต้อง นำร่อง โครงการ พิจารณาความเป็นไปได้ก่อนที่จะรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม
“ทันทีที่กระทรวงพลังงานเปิดให้เอกชนเข้าร่วมโครงการเป็น เดือน ม.ค.64 ก็น่าจะเดาได้ว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจะเป็นอย่างไร จะเปิดต่ออีก หรือ ชะลอออกไป ก็ขึ้นอยู่กับ ผู้ประกอบการสนใจมากน้อยแค่ไหน เพราะผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าจะต้องเข้าไปดูแลเกษตรกร ตั้งแต่ การปลูกพืช การสอน การใช้ปุ๋ยต่างๆ วิธีการการเก็บเกี่ยว เป็นต้น”
รวมทั้งเรื่องของรูปแบบการทำธุรกิจร่วมกัน จริงจังและทำได้อย่างไร เพราะต้องคิดกันอย่างรอบครอบ เพราะในอนาคตจะต้องทำโรงไฟฟ้าสะอาด พลังงานหมุนเวียน อย่างแท้จริง ตามมาตรฐานสากล จำเป็นจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องปลูกพืชพลังงานหมุนเวียน มิฉะนั้นแล้วไม่นับว่าเป็นพลังงานสะอาด เพราะไม่รู้ที่มาของวัตถุดิบ เชื้อเพลิง ที่แท้จริง นี้ถึงจะเป็นสิ่งที่เราสามารถพัฒนาไปได้อีกขึ้นหนึ่ง
นายสุพัฒนพงษ์ บอกอีกว่า หลังจากนั้นอีก 1 ปี ก็จะทราบว่า โครงการจะสามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ หากทำได้ภายใน 6 เดือน อาจจะเปิดต่ออีก หรือ ถ้า 1 ปีต้องรอดูต่ออีกครั้งครึ่งปี ก็อาจจะต้องชะลอโครงการออกไป