วสท. ลงพื้นที่ตรวจโครงสร้างอาคารในพื้นที่ท่อส่งก๊าซระเบิด
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นำโดย ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วสท.และ รศ. สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายก นำทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ตรวจสอบความแข็งแรงของอาคารบ้านเรือนด้วยอุปกรณ์ทางวิศวกรรมในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากท่อส่งก๊าซ ปตท.ระเบิด ต.เปร็ง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ
ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 66 คน บ้านเรือนเสียหายราว 34 ครัวเรือน เผยอาคารโรงเรียนเปร็งยังไม่ปลอดภัย ไม่ควรเข้าใกล้เนื่องจากพบรอยร้าวหลายจุด ปลั๊กไฟละลาย ขณะที่โรงเรียนประกาศปิดเรียนยาวเปิด 1 ธ.ค.นี้ เพื่อความปลอดภัย
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบ อาคารเรียนของโรงเรียนเปร็งวิสุทธาธิบดี พบว่า อาคาร 2 ชั้น รอยร้าวเดิมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ความร้อนทำให้ปลั๊ก สายไฟฟ้าในอาคารละลาย ควรจะต้องตรวจเช็คระบบไฟฟ้าว่ามีโอกาสจะลัดวงจรหรือไม่ ระบบไฟฟ้าภายในซึ่งอาจได้รับความเสียหายต่อเนื่องจากอุปกรณ์ไฟฟ้าภายนอกที่เป็นพลาสติกหลอมละลาย จึงขอให้กั้นอาคารเป็นพื้นที่อันตรายไว้ ส่วนเก้าอี้ โต๊ะต่างๆ ในโรงเรียนก็ต้องระวังในการใช้งานเพราะดูภายนอกอาจจะไม่เห็น ส่วนอีกหลังที่เป็นอาคาร 3 ชั้น ไม่ค่อยมีผลกระทบมากแต่ก็พบว่ามีรอยร้าวของคาน ร.ร. และเสาบางต้นที่บ้านพักครูมีสนิม โซนเหล่านี้ไม่ควรเข้าใกล้ ทั้งนี้จะตรวจทางด้านวิศวกรรมเพิ่มเติมอีกครั้งในจุดที่พบรอยร้าวเพิ่ม ระหว่าง วสท.และเจ้าหน้าที่ บริษัท ปตท. ทั้งนี้ วสท.ให้คำแนะนำว่าโรงเรียนควรงดการเรียนการสอนต่ออีกระยะ เพื่อเช็คระบบและโครงสร้างอย่างละเอียด จนกว่าจะมั่นใจในความปลอดภัย โดยล่าสุด โรงเรียนเปร็งวิสุทธาธิบดีได้กำหนดปิดเรียนชั่วคราวเพื่อให้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบด้านต่างๆ ต่อไป และจะเปิดอีกครั้งในวันที่ 1 ธันวาคม 2563
ด้าน รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า เพลิงลุกไหม้พร้อมกับมีแรงดันและกระแสคลื่นความร้อนจากจุดเริ่มต้นลามไปตามทิศทางของการระเหยของแก๊ส เท่าที่ทราบความร้อนจากแก๊สมีเทนจะสูงมาก อาจถึงหรือมากกว่า 1,000 องศาเซลเซียส และจะกระจายมีผลกระทบกับวัสดุสิ่งของที่อยู่ในทิศทางที่กระแสคลื่นแผ่ไป และค่อย ๆ เบาลงไปตามระยะทางที่ยาวออกไป ซึ่งแตกต่างจากความร้อนที่เกิดจากวัสดุเชื้อ เช่น กระดาษ เสื้อผ้า หรือไฟไหม้ที่เราเห็นในอาคารบ่อย ๆ ไม่มีความดัน อุณหภูมิอย่างมากก็ 4 – 500 องศาเซลเซียส ดังนั้นผลที่เกิดจากสิ่งของที่อยู่ในทิศทางกระแสความร้อนจากแก๊สระเบิด เปรียบเสมือนถูกอบอยู่ในตู้อบหรือเตาอบ อาคารและสิ่งของดังกล่าวจะถูกความร้อนอบจนกรอบ ดูภายนอกเหมือนปกติแต่เนื้อในนั้นแห้งแตกระแหง วัสดุที่ยืดหยุ่นเช่น ยาง สายไฟ ปลั๊ก พีวีซี จะยืดเหลว บิดเปลี่ยนรูปเสียหายก่อน และวัสดุที่แข็งและเปราะ เช่น ไม้แผ่น ดูภายนอกไม่รู้สึกเสียหาย แต่หากทุบหรือบิ มันจะกรอบและหักเสียหายเหมือนข้าวเกรียบ ส่วนที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก และ Bonding Agent จะเสียคุณสมบัติ วัสดุจะกลับคืนสู่สภาพเดิม ซึ่งจะพบว่าเนื้อคอนกรีตเริ่มเป็นขุย เนื้อคอนกรีตจะขาดความต่อเนื่อง และไม่สามารถรับกำลังได้เท่าเดิม ชิ้นส่วนโครงสร้างที่บาง ๆ เกิดการบิดและหากเดิมมีรอยร้าวอยู่แล้วจะเพิ่มมากขึ้น หากความร้อนทะลุผ่านไปถึงเหล็กเสริมภายใน แน่นอนว่าจะเกิดการเสื่อมสภาพ และอาจลามไปถึงกำลังของโครงสร้าง
ในพื้นที่เกิดเหตุ อาจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ กลุ่ม 1 ได้รับผลกระทบรุนแรง มีบ้านอยู่ 3 – 4 หลัง ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 40 – 70 เมตร ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ทั้งอาคาร สิ่งของ รถยนต์ รวมไปถึงชีวิตผู้คนในบ้าน และสถานีตำรวจที่อุปกรณ์ภายนอกและภายในเสียหายหมด รวมทั้งมีรอยร้าวบนผนังบ้าง ส่วนโครงสร้างต้องตรวจสอบเชิงลึกจึงจะประเมินความปลอดภัยได้อย่างสมบูรณ์ กลุ่ม2 คืออาคารโรงเรียนเปร็งวิสุทธาธิบดี ที่อยู่หลังสถานีตำรวจและห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 100 เมตร ซึ่งอยู่ในแนวกระแสคลื่นความร้อนอ่อนลง ดูสภาพอาคารเกือบเป็นปกติ แต่วัสดุอ่อนเช่น สายไฟ ท่อน้ำภายนอก เสียหาย ควรเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ยกเว้นอาคาร 2 ชั้นด้านหลังและบ้านพักที่เป็นโครงสร้างไม้นั้น มีความชำรุดทรุดโทรมจากสภาพเก่าอยู่ก่อนแล้ว ได้รับคลื่นความร้อนซ้ำทำให้ไม่น่าปลอดภัยต่อการใช้สอยอีกต่อไป และกลุ่ม3 ได้รับผลกระทบน้อย คือโรงเรียนเปร็งราษฎร์บำรุง ซึ่งอยู่ภายในวัดเปร็ง สังเกตุได้จากวัสดุอ่อน เช่น รองเท้าหนังนักเรียนที่วางอยู่บนชั้นวางไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ