ส่งเสริมใช้ รถ EV ราคาต้องไม่เกิน 1 ลบ.
ส.ยานยนต์ไฟฟ้าไทย ชี้ ภาครัฐควรใช้มาตรการด้านภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้ รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และ ราคารถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศไม่ควรเกิน 1 ล้านบาท
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) เผยว่า แนวโน้มการขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเห็นได้จากสถิติยอดจดทะเบียนสะสมของรถยนต์ไฟฟ้า พลังงานแบตเตอรี่ (BEV) ในช่วง ปี 2558-มิถุนายน 2563 พบว่า มียอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 4,301 คัน แบ่งเป็น รถจักรยานยนต์ 2,301 คัน รถยนต์ 1,731 คัน รถบัส 120 คัน และรถสามล้อ 149 คัน ขณะที่รถยนต์ไฮบริด และปลั๊ก-อิน ไฮบริด มีจำนวนทั้งสิ้น 167,767 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ 162,192 คัน รถจักรยานยนต์ 5,573 คัน รถบัส 1 คัน และรถบรรทุก 1 คัน
ส่วนยอดจอทะเบียนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา พบว่า ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานเเบตเตอรี่ (BEV) มีจำนวน 3,076 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ 2,402 คัน รถจักรยานยนต์ 658 คัน รถบัส 2 คัน และสามล้อไฟฟ้า 14 คัน
สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงกว่าเท่าตัว โดยปีที่ผ่านมายอดจดทะเบียน 1,572 คัน ส่วนสถานีอัดประจุไฟฟ้าปัจจุบันนีจำนวนหัวจ่ายไฟฟ้ารวมกว่า 1,854 หัวจ่าย
ดังนั้นจึงเชื่อว่า นโยบายผลักดันให้ประเทศไทยมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) คิดเป็นร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด หรือ ประมาณ 750,000 คัน ในปี 2573 จะเป็นไปตามเป้าหมาย แต่หากภาครัฐต้องการที่จะให้มีใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้เพิ่มมากขึ้น ก็จะต้องมีมาตรการส่งเสริม โดยปัจจัยหลักจะเป็นเรื่องของราคาต้อง เหมาะสม คุ้มค่าน่าจะอยู่ที่ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทต้นๆ ซึ่งอีก 3-4 ปี จะเห็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ประกอบในประเทศเพิ่มมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาได้มีค่ายรถยนต์ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)ไปแล้ว
“แต่ในช่วงแรกเพื่อเป็นการกระตุ้นด้านการตลาด คงต้องใช้มาตรการด้านภาษีในการลดหย่อนภาษีเงินได้ มาช่วยส่งเสริม เนื่องจากปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้า เพราะประเทศไทยจะผลิตได้ก็อีก 3-4 ปีข้างหน้า” นายกฤษฎา กล่าว
อย่างไรก็ดีขณะนี้สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยได้ร่วมมือกับ 11 หน่วยงาน พัฒนาโมเดลการใช้งานสถานีอัดประจุไฟฟ้าข้ามเครือข่ายหรือ Charging Consortium จำนวน 80 หัวจ่าย ซึ่งคาดว่าจะสามารถทดลองใช้ได้ประมาณต้นปี 64 โดยใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ 2.63 บาทต่อหน่วย