ไฟเขียวขยายเวลาผลิตก๊าซสินภูฮ่อมอีก 10 ปี
ครม.เห็นชอบ ขยายเวลาผลิตปิโตรเลียมโครงการแหล่งก๊าซสินภูฮ่อม ให้กับบริษัท พีทีทีอีพีเอสพี ลิมิเต็ด อีก 10 ปี เพื่อ ความมั่นคงด้านพลังงาน และภาพลักษณ์ด้านการลงทุนของประเทศ
การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม2562 ได้มีมติอนุมัติให้ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมให้แก่บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด และคณะ ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2562 ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2572 สำหรับแปลงสำรวจบนบกหมายเลข EU 1 และนับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2574 สำหรับแปลงสำรวจบนบกหมายเลข E 5 เฉพาะในพื้นที่โคราช ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ทั้งนี้ การที่บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด ผู้รับสัมปทานและผู้ดำเนินงานตามสัมปทานปิโตรเลียมดังกล่าว ขอต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมออกไปอีก 10 ปี เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม
นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ศึกษาและพิจารณาคำขอต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมของแปลงสำรวจดังกล่าว รวมทั้งได้หารือและให้ผู้รับสัมปทานทบทวนแผนงานและผลประโยชน์ที่เสนอให้แก่รัฐ ซึ่งประเด็นการพิจารณาต่าง ๆ ได้นำเสนอและผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการปิโตรเลียมก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยคำนึงถึงศักยภาพปิโตรเลียมและผลประโยชน์ต่อประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานเป็นสำคัญ
สำหรับปริมาณสำรองปิโตรเลียมของโครงการแหล่งก๊าซสินภูฮ่อม ณ สิ้นปี พ.ศ. 2560 ประเมินว่าจะมีก๊าซธรรมชาติ 114.27 พันล้านลูกบาศก์ฟุต และก๊าซธรรมชาติเหลว 0.38 ล้านบาร์เรล และหากมีการลงทุนเพื่อสำรวจและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะมีโอกาสพบทรัพยากรปิโตรเลียมเพิ่มเติม ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติประมาณ 527 พันล้านลูกบาศก์ฟุต และก๊าซธรรมชาติเหลวประมาณ 1 ล้านบาร์เรล นอกจากนั้น ในการขอ ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมในทั้ง 2 แปลงสำรวจ ออกไปอีก 10 ปี รัฐจะได้รับรายได้ ประกอบด้วย ค่าภาคหลวงประมาณ 284 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมประมาณ 621 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเงินผลประโยชน์ซึ่งผู้รับสัมปทานเสนอเพิ่มเติมให้แก่รัฐ ประมาณ 74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งสิ้น 979 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30,349 ล้านบาท ที่อัตราแลกเปลี่ยน 31 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ)
“การต่อระยะเวลาการผลิตปิโตรเลียมดังกล่าวนับเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมนี้จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าน้ำพองที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการลงทุนของประเทศด้วย” นางเปรมฤทัย กล่าว