กฟผ.- สทน.ทุ่ม 400 ลบ.พัฒนาพลังงานอนาคต
กฟผ. จับมือ สทน. ทุ่มงบประมาณ 400 ล้านบาท พัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน และต้นแบบเครื่องโทคาแมคไทย มุ่งสู่พลังงานทางเลือกในอนาคต
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวภายหลังลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน กับ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) ว่า MOU ฉบับนี้ มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี โดย กฟผ. และ สทน. มีความร่วมมือระหว่างกัน อาทิ ร่วมกันศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน การร่วมกันจัดอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการด้านดังกล่าวแก่บุคลากรของทั้งสองฝ่าย
ตลอดจนสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เฉพาะทาง รวมถึงร่วมมือกันออกแบบและพัฒนาระบบประกอบของเครื่องโทคาแมค ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการกักเก็บพลาสมาด้วยสนามแม่เหล็กและใช้ในการศึกษาวิจัยเรื่องเทคโนโลยีฟิวชัน โดยผสานความเชี่ยวชาญด้านวิศกรรมไฟฟ้าและการออกแบบระบบไฟฟ้าของ กฟผ. กับความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของ สทน. เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชันของประเทศต่อไป ทั้งนี้ ในอนาคตอาจสามารถใช้เทคโนโลยีฟิวชัน ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาดใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้สำเร็จ
ด้าน นายพรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวว่า การร่วมมือในครั้งนี้เป็นการร่วมกันวิจัยและพัฒนาศักยภาพของระบบจ่ายพลังงาน ระบบควบคุมและเก็บข้อมูล ระบบวัดคุณสมบัติของพลาสมาขั้นพื้นฐาน และระบบสุญญากาศของเครื่องโทคาแมค เพื่อเป็นเครื่องต้นแบบสำหรับประเทศไทย
รวมถึงพัฒนาเครื่องกำเนิดพลาสมาเชิงเส้นต้นแบบที่มีอุณหภูมิและความหนาแน่นของพลาสมาตามมาตรฐาน โดยเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถนำไปใช้ประโยชน์หลากหลายด้าน อาทิ การผลิตวัสดุทนความร้อนสูงเพื่อใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม การใช้เครื่องพลาสมาทางการแพทย์ ตลอดจนการเกษตร และการพัฒนาระบบควบคุมความเร็วสูง นอกจากนั้น ยังเป็นการส่งเสริมให้บุคลากรภายในประเทศมีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน ซึ่งเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญต่อการวิจัยด้านเทคโนโลยีขั้นสูง
ด้านนายธวัชชัย อ่อนจันทร์ รองผู้อำนวยการ (วิชาการ) สทน. กล่าวว่า โครงการนี้ใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท เป็นของ กฟผ.200 ล้านบาท และ สทน. 200 ล้านบาท โดยใน 3 ปีแรก สทน.และ กฟผ.จะจัดส่งบุคลากรไปศึกษาเรียนรู้เทคโนโลยีที่ประเทศจีน จากนั้นปีที่ 4-5 จะนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาสร้างต้นแบบ เครื่องโทคาแมคไทย สู่ พลังงานทางเลือกในอนาคต ต่อไป