กกพ.ไฟเขียว โรงไฟฟ้าขยะ 9 จังหวัด
กกพ.อนุมัติจัดตั้งโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 9 จังหวัด รวม 11 โครงการ มูลค่า 13,101 ล้านบาท วางเป้าหมายลดปริมาณขยะ 2,600 ตันต่อวัน และลดก๊าซเรือนกระจกได้ 383,796 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี เดินเครื่องจ่ายไฟ 31 ธ.ค.62
นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. มีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการรับซื้อไฟฟ้า ภายใต้โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน จากพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเข้าร่วมโครงการ จำนวน 9 จังหวัด ทั่วประเทศ รวม 11 โครงการ โดยคิดเป็นปริมาณที่รับซื้อได้ รวม 68.90 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตติดตั้ง รวม 83.04 เมกะวัตต์ และมีกำลังจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ระบบ (SCOD) ภายใน 31 ธันวาคม 2562
“จากการที่สำนักงาน กกพ. ได้มีการจัดทำความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ภายใต้โครงการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการในระยะแรก หรือ โครงการ Quick Win สามารถร่วมกันอนุมัติโครงการที่ดำเนินการโดยองค์กรส่วนปกครองท้องถิ่นแล้วทั้งสิ้น 11 โครงการจากพื้นที่มีศักยภาพรวม 9 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ กกพ. ได้มีการออกประกาศรับรองอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว” นางสาวนฤภัทร กล่าว
ก่อนหน้านี้ กกพ. ได้ออกประกาศและหลักเกณฑ์การจัดหาไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) ซึ่งมีเป้าหมายการรับซื้อ รวม 77.9 เมกะวัตต์ โดยได้เปิดให้ยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้า มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2560 – 31 มีนาคม 2562 ซึ่งสามารถสรุปยอดผู้ที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติจาก กกพ. หลังปิดรับยื่นคำร้องฯ มีรายละเอียดดังนี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการรับซื้อไฟฟ้าฯ ดังกล่าวเป็นผลสำเร็จของการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนแนวทางของรัฐบาลในการบริหารจัดการภาคพลังงานให้มีความมั่นคง และมีเสถียรภาพด้วยความพยายามที่จะเพิ่มความหลากหลายในการผลิตไฟฟ้า ควบคู่กับการกระจายแหล่ง และประเภทเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยที่ไม่ พึงพิงแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป ทั้งยังสามารถที่จะส่งเสริมการลดปริมาณขยะมูลฝอยในชุมชนซึ่งเป็นปัญหาหลักของท้องถิ่น ควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก