บ้านปู เปิดแผน ไต่อันดับผู้นำพลังงานเอเชีย
บ้านปู ชู กลยุทธ์ Greener & Smarter เน้นธุรกิจผลิตพลังงาน มั่นใจขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำเทคโนโลยีพลังงานแห่งเอเชียใน 7 ปี
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU เปิดเผยว่า บริษัทวางเป้าหมายการเป็นบริษัทชั้นนำด้านพลังงานอย่างครบวงจรภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter โดยเน้นกลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน (Energy Generation) ที่จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน (Renewable) ซึ่งในญี่ปุ่นวางเป้าหมายเพิ่มเป็น 300 เมกะวัตต์ (MW)
และเตรียมสรุปดีลโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ขนาด 400 เมกะวัตต์ในเวียดนามในช่วงไตรมาส 2/62 ส่วนธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology) จะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) อีก 100 เมกะวัตต์ในปีนี้ จากปัจจุบัน 151 เมกะวัตต์ โดยคาดหวังจะช่วยผลักดันขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำเทคโนโลยีพลังงานแห่งเอเชียใน 7 ปี
ด้านธุรกิจแหล่งพลังงาน (Energy Resources) ซึ่งประกอบด้วยถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน (Shale gas) นั้น เบื้องต้นเดินหน้าซื้อแหล่งในสหรัฐเพิ่มเติม คาดว่าจะสรุปในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยการลงทุนใน Shale gas จะช่วยสร้างกระแสเงินสดได้อย่างรวดเร็วและมั่นคง พร้อมมองโอกาสต่อยอดธุรกิจปลายน้ำอย่างโรงไฟฟ้าในอนาคต
ส่วนธุรกิจถ่านหินที่เคยเป็นธุรกิจหลักจะหันมาทำเทรดดิ้งเพิ่มขึ้น โดยไม่เน้นการผลิตถ่านหินออกมามาก ซึ่งจะช่วยยืดอายุปริมาณสำรอง ขณะที่ราคาถ่านหินมีทิศทางอ่อนตัวลงในปีนี้
นางสมฤดี กล่าวว่า ธุรกิจถ่านหินยังคงมีอยู่ เพราะในปี 2030 ปี 2040 การใช้พลังงานของโลกก็ยังคงมีถ่านหินอยู่ประมาณ 22% เราก็ยังเก็บถ่านหินไว้ แต่ไม่ได้ไปเพิ่มปริมาณการผลิตในแต่ละปี แต่เราจะไปเติมในส่วนที่เป็น Greener อย่างธุรกิจก๊าซฯหัวใจของบ้านปูคือบริษัทพลังงานแบบครบวงจร ที่เน้นเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรมและพลังงานที่ยั่งยืน ซึ่งพลังงานที่ยั่งยืนก็จะประกอบด้วยพลังงานที่เหมาะสม พลังงานที่มีความต่อเนื่องน่าเชื่อถือ และพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับแผนลงทุนในปี 2562-2563 จะใช้เงินลงทุนประมาณ 835 ล้านเหรียญสหรัฐใน 3 ธุรกิจหลัก เพื่อปรับสัดส่วนเป้าหมายกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ให้มีความเหมาะสม จากในปี 61 ที่มีสัดส่วน EBITDA สำหรับธุรกิจ Energy Resources จากถ่านหิน ที่ 70% และก๊าซฯ 8% เปลี่ยนเป็น ถ่านหิน 40% และก๊าซฯ 15% ในปี 68 , ธุรกิจ Energy Generation จากระดับ 22% เปลี่ยนเป็นมาจาก การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงทั่วไป (Conventional) 20% และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 15% ส่วนธุรกิจ Energy Technology จากระดับ 0% จะเพิ่มเป็น 10%
สำหรับธุรกิจ Energy Resources ในส่วนของถ่านหิน จะเน้นรักษาการผลิต ในอินโดนีเซียที่ 25 ล้านตันต่อปี ,ออสเตรเลียที่ 15 ล้านตันต่อปี และจีนที่ 10 ล้านตันต่อปี ขณะที่จะเน้นการทำเทรดดิ้งมากขึ้นจากปีที่แล้วที่มี 2.2 ล้านตัน และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 3 ล้านตันในปีนี้ โดยมีตลาดสำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม และญี่ปุ่น ล่าสุดได้รับสัญญาการขายถ่านหินให้การไฟฟ้าเวียดนามจำนวน 1 ล้านตัน และเพิ่มได้อีก 20%
พร้อมกันนี้จะเพิ่มปริมาณสำรองถ่านหินจากการสำรวจเพิ่มเติมและการมองหาแหล่งถ่านหินขนาดเล็กละแวกใกล้เคียง ซึ่งในปีที่แล้วได้เข้ามาเพิ่ม 2 แหล่ง โดยมีปริมาณสำรองถ่านหินในอินโดนีเซีย 350 ล้านตัน มีเป้าหมายจะทำการผลิตถ่านหินให้ได้ยาว 15 ปี, ออสเตรเลีย คาดว่าปริมาณสำรองที่มีอยู่เกือบ 380 ล้านตัน ก็จะทำการผลิตถ่านหินได้ถึง 20 ปี และถ่านหินในจีน ที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 46% มีการผลิต 10 ล้านตัน/ปี มีปริมาณสำรองราว 900 ล้านตัน สามารถผลิตถ่านหินได้ยาวประมาณ 90 ปี
ด้านธุรกิจก๊าซฯในสหรัฐ ที่ปัจจุบันลงทุนไปแล้ว 522 ล้านเหรียญสหรัฐใน 5 แหล่ง มีกำลังการผลิตราว 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และมีโอกาสขยายได้อีกประมาณ 15% เป็น 220-230 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเตรียมใช้เงินอีกราว 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อลงทุนในช่วงปี 62-63 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างมองหาแหล่งก๊าซฯเพิ่มเติมในบริเวณใกล้เคียงแหล่งเดิม คาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้ พร้อมมองโอกาสต่อยอดไปยังธุรกิจปลายน้ำอย่างโรงไฟฟ้าก๊าซละแวกใกล้เคียง
ส่วนธุรกิจ Energy Generation ซึ่งเป็นการดำเนินงานผ่าน บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) วางเป้าหมายที่จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือ 4,300 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 68 จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือ 2,869 เมกะวัตต์ โดยมีโรงไฟฟ้า Conventional หลักคือโรงไฟฟ้าหงสา ในลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ในไทย ซึ่งสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างมั่นคง และในอนาคตจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินซานซีลู่กวง (SLG) เข้ามา
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ที่มีอยู่ในพอร์ตก็จะยังขยายต่อเนื่อง อย่างในญี่ปุ่นมีเป้าหมายจะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มเป็น 300 เมกะวัตต์ จากราว 230 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน และในจีนก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มี 152 เมกะวัตต์ ล่าสุดได้โครงการพลังงานลมในเวียดนาม 200 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา ขณะเดียวกันยังเจรจาร่วมทุนกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาโซลาร์ฟาร์มในเวียดนามอีก 400 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสรุปได้ในช่วงไตรมาส 2/62 เบื้องต้นน่าจะถือหุ้นฝ่ายละ 50%
ส่วนธุรกิจ Energy Technology ที่ดำเนินการส่วนใหญ่ผ่านทางบริษัท บ้านปู อินฟิเนอร์จี จำกัด โดยทำโครงการโซลาร์รูฟท็อปในประเทศไทยให้กับโรงเรียน โรงแรม โรงพยาบาล โรงงาน รีสอร์ท ห้างสรรพสินค้า รวมถึงยังมีการลงทุนในสิงคโปร์ผ่านบริษัท Sunseap Group Pte Ltd. (Sunseap) ทำให้มีการลงทุนในโซลาร์ราว 151 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโซลาร์รูฟ โดยวางเป้าหมายในปีนี้จะเพิ่มโซลาร์รูฟท็อปอีก 100 เมกะวัตต์ในปีนี้ และจะเพิ่มเป็น 300 เมกะวัตต์ในปี 63 เน้นการทำในลักษณะของโซลูชั่นให้กับลูกค้าในการผลิตเองใช้เอง
นางสมฤดี กล่าวต่อว่า ในอนาคตบริษัทจะนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ร่วมด้วย หลังจากได้เข้าลงทุนประมาณ 47% ในบริษัท Durapower Technology (Singapore) ผู้ผลิตแบตเตอรี่ขนาด 380 เมกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันมีการส่งออกแบตเตอรี่ไปยังตลาดในยุโรป เป็นต้น รวมถึงกลุ่มบ้านปู ยังได้ลงทุน 21.50% ในรถยนต์ไฟฟ้า FOMM ประเทศญี่ปุ่นด้วย