กฟผ.ซื้อไฟฟ้า “น้ำงึม1-เซเสด” สปป.ลาว
กฟผ.ลงนามร่วมกับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว(ฟฟล.)ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า “น้ำงึม1-เซเสด” ฉบับใหม่ พร้อมปรับอัตรารับซื้อไฟฟ้า จากเดิม 1.33 บาทต่อหน่วย เป็น 1.63 บาทต่อหน่วย เพื่อสะท้อนต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แท้จริง
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ท่านคำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ง สปป.ลาว ร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างไทยกับลาว โดยมีนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)และท่านบุญอุ้ม สีวันเพ็ง ผู้อำนวยการใหญ่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว หรือ ฟฟล.เป็นผู้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการเขื่อนน้ำงึม 1 และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการเขื่อนเซเสด ฉบับใหม่
นายศิริ กล่าวว่า การลงนามสัญญาครั้งนี้เป็นความร่วมมือซื้อขายไฟฟ้าระหว่างไทยกับ สปป.ลาว จากโครงการเขื่อนน้ำงึม 1 ฉบับเดิมปี 2517-ปัจจุบัน(ผนวกรวมโครงการน้ำลึก น้ำเทิน 2 เข้าเป็นส่วนหนึ่งในสัญญา) และโครงการเขื่อนเซเสดฉบับเดิมปี 2548 – ปัจจุบัน(ผนวกรวมโครงการเซเสด 2 และห้วยลำพันใหญ่เข้าเป็นส่วนหนึ่งในสัญญา)ได้ครบกำหนดสัญญาวันที่ 2 มีนาคม 2562 ไทยโดยกฟผ.จึงทำสัญญาฉบับใหม่เพื่อรับซื้อไฟกำลังผลิตรวมประมาณ 300-400 เมกะวัตต์ พร้อมกับปรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าเดิมที่กำหนดราคาคงที่ 1.33 บาทต่อหน่วยเป็นเฉลี่ย 1.63 บาทต่อหน่วย
” ที่ผ่านเรามีการขยายสัญญาม่าต่อเนื่องและสปป.ลาวมีรายได้จากค่าไฟไม่สูงนักและสัญญาเดิมไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่สูงขึ้นสปป.ลาวจึงจอให้มีการทบทวนจึงได้มีการเจรจากันที่จะปรับราคาให้เหมาะสมเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีมายาวนานด้านซื้อไฟฟ้านับ 50 ปี โดยจะยึดการนำต้นทุนการผลิตไฟฟ้าหน่วยสุดท้ายระยะสั้น(Short Run Maginal Cost ) ตามค่าเชื้อเพลิงจริงย้อนหลัง 6 เดือนของแต่ละสัญญาเพื่อนำไปใช้เป็นอัตราค่าไฟในปีสัญญาถัดไปสะท้อนตามสภาพข้อเท็จจริงก็ไม่ได้ทำให้ภาระค่าไฟของไทยเปลี่ยนแปลงอะไร แต่รายได้สู่สปป.ลาวจะมีความเป็นธรรมมากขึ้น”นายศิริกล่าว
ปัจจุบันไทยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับสปป.ลาวที่ผูกพันแล้ว 6,000 เมกะวัตต์แต่ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านพลังงานของไทยกับสปป.ลาวในการลงนาม(MOU)รับซื้อไฟฟ้าจะอยู่ที่ 9,000 เมกะวัตต์ โดยการรับซื้อระยะต่อไปก็จะต้องพิจารณาโครงการที่เหมาะสม และภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย(PDP2018)พ.ศ.2561-80 กำหนดการรับซื้อไฟจากสปป.ลาวอีก 3,000-3,500 เมกะวัตต์จากที่ดำเนินการแล้ว 6,000 เมกะวัตต์โดยจะแบ่งการรับซื้อปี 2568-69 อีก1,400 เกมะวัตต์และที่เหลืออีกกว่า 2,000 เมกะวัตต์จะเป็นช่วงปี 2573-75
” สปป.ลาวเองก็กำลังศึกษาทำเขื่อนน้ำโขง-หลวงพระบาง โดยใช้กระแสน้ำปั่นโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนใหญ่มาก เช่น เขื่อนไซยะบุรี ก็จะสร้างความมั่นคงไฟฟ้าของสปป.ลาวและในภูมิภาค ซึ่งการลงนามครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าผ่านระบบส่งหรือ Grid to Grid ที่เรามองการเชื่อมโยงจากสปป.ลาว ผ่านไทย มาเลเซีย ซึ่งวางเป้าหมายขายไฟผ่านระบบส่งจากไทยไปมาเลเซีย 300 เมกะวัตต์และมองเชื่อมไปยังสิงคโปร์ รวมทั้งจะเป็นการเปิดตลาดไฟฟ้าใหม่จากสปป.ลาวไปยังเมียนมาเช่นกันเพราะเราหวังว่าการขายไฟจะมีต้นทุนที่ไม่สูงเป็นประโยชน์ร่วมกัน “ นายศิริกล่าว