“สุวัฒน์”ประกาศดัน GGC ผู้นำอุตฯโอลีโอเคมี
ซีอีโอ GGC คนใหม่ ประกาศสานต่อแผนงาน มุ่งสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมโอลีโอเคมีและเคมีภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม โดยมีภารกิจหลักในการเป็น Green Flagship ของกลุ่ม GC
นายสุวัฒน์ กมลพนัส กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เผยทิศทางการดำเนินงานของบริษัทในปี 2563 หลังเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการคนใหม่ โดยย้ำว่ายังคงสานต่อและขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ของ GGC ให้เป็นไปตามแผนและกลยุทธ์ของบริษัทฯ ที่วางไว้ เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมโอลีโอเคมีและเคมีภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม
โดยมีภารกิจหลักในการเป็น Green Flagship ของกลุ่ม GC ด้วยการสนับสนุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการเกษตรและยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจบนหลักความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการพัฒนาตามโมเดล BCG ของประเทศไทย
สำหรับแผนงานที่ GGC กำลังดำเนินงานอยู่ในขณะนี้ นายสุวัฒน์ บอกว่า คือ การสานต่อและขับเคลื่อนโครงการ “นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์”(Nakhonsawan Biocomplex) สู่การเป็น Bio Hub แห่งแรกของประเทศไทยแบบครบวงจร ซึ่งเป็นโครงการที่สอดรับกับแนวนโยบายของภาครัฐและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตาม BCG Model คือ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม โดยเน้นไปที่เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เป็นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน
โครงการดังกล่าวเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท จีซีซี ไบโอเคมิคอล จำกัด (GGC Bio) และ บริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด (KTBE) ซึ่งโครงการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 มุ่งเน้นการต่อยอดสู่เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ประกอบด้วย โรงหีบอ้อย โรงงานเอทานอล โรงงานไฟฟ้าชีวมวลและผลิตไอน้ำความดันสูง ปัจจุบันมีความคืบหน้าการก่อสร้างไปแล้วกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาสที่ 4/2564 และทันฤดูการหีบอ้อยปี 2564และ2565
หลังจากนั้นจะเป็นการขยายธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ BCG Economy Model ด้วยการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (Eco System) ในนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เพื่อดึงดูดพาร์ทเนอร์ต่างๆ ที่มีเทคโนโลยีมาเข้ามาร่วมลงทุนในระยะที่ 2 ที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการเกษตร เพื่อต่อยอดสู่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) และเคมีชีวภาพ (Biochemicals) ที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและรอการตอบรับจากผู้ที่สนใจ ซึ่งถ้าเราทำได้สำเร็จตามแผนที่วางไว้ จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ชุมชนใกล้เคียง ก็จะมีเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจภายใต้ “ภาวะปกติใหม่”(New Normal) นายสุวัฒน์ บอกว่า ยังคงดำเนินการอย่างระมัดระวัง แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยกลับมาเปิดบริการอีกครั้ง แต่ปัจจัยเสี่ยงในด้านลบยังมีความไม่แน่นอนสูง อาทิ ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ระลอกสอง สถานการณ์ภัยแล้ง และเสถียรภาพการเมืองในประเทศ ทำให้บริษัทฯ ต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หันมาให้ความสำคัญเรื่องการดูแลทำความสะอาดและใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลมากขึ้น โดยเฉพาะเจลแอลกอฮอล์ที่มีส่วนผสมของกลีเซอรีนบริสุทธิ์ ที่มีคุณสมบัติให้ความชุ่มชื้นกับผิวหนัง ส่งผลให้ผลประกอบการในไตรมาสที่ 2/2563 ยอดขายกลีเซอรีนบริสุทธิ์ของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นในระยะยาว แต่คาดว่าจะไม่กระทบกับตลาดโดยรวมมากนัก เนื่องจากกลีเซอรีนเป็นส่วนประกอบที่ให้ความชุ่มชื้นในเจลดังกล่าวเพียง 0-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ขณะที่ยอดขายผลิตภัณฑ์เมทิลเอสเทอร์ (B100) และแฟตตี้แอลกอฮอล์ ปรับตัวลดลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยที่เมทิลเอสเทอร์ (B100) ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาล ส่งผลให้การเดินทางของภาคประชาชนและภาคขนส่งลดน้อยลง ทั้งนี้บริษัทฯ ยังคงมีการประสานกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดและแสวงหาลูกค้ากลุ่มใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯมากขึ้น
“เชื่อว่า สิ่งที่ GGC ดำเนินการอยู่ในขณะนี้มีเป้าหมายที่ชัดเจน คือการเป็น Leading Green Company และ Green Flagship ของกลุ่ม GC หากมองไปในระยะข้างหน้า GGC มาถูกทาง และเชื่อว่าการร่วมทุนดังกล่าวในโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับบริษัทฯ” นายสุวัฒน์ บอกว่า
นายสุวัฒน์ ยังบอกว่า ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพและเพิ่มโอกาสในการลงทุนต่อยอดธุรกิจเคมีชีวภาพ (Biochemicals) และพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ในอนาคต ที่ก่อให้เกิดการสร้างประโยชน์ร่วมกัน ตลอดห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมชีวภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรของประเทศอย่างยั่งยืน