ไทย ไปป์ไลน์ ขยายท่อส่งน้ำมันภาคอีสาน
ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จับมือ ไชน่า ปิโตรเลียม ไปป์ไลน์ บูโร เดินหน้าก่อสร้างโครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่ากว่า 9,000 ล้านบาท
บริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด หรือ TPN บริษัทในเครือบริษัท เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ PSTC ลงนามเซ็นสัญญาร่วมกับไชน่า ปิโตรเลียม ไปป์ไลน์ บูโร หรือ CPP เพื่อเดินหน้าก่อสร้างโครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่ากว่า 9,000 ล้านบาท คาดเริ่มเปิดดำเนินการได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2564 เพื่อช่วยประหยัดพลังงานภาคขนส่ง ส่งผลให้ราคาน้ำมันในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนลดลง เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยโดยมี ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาฯ และ ท่าน จาง เพ่ยตง อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยร่วมเดินทางมาเป็นเกียรติ
นายภาณุ ศีติสาร ประธานกรรมการ บริษัท เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ PSTC และกรรมการ บริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด หรือ TPN กล่าวว่า “บริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด หรือ TPN บริษัทย่อยในเครือ PTSC มีความยินดีลงนามในสัญญาจ้างการก่อสร้างโครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับ ไชน่า ปิโตรเลียมไปป์ไลน์ บูโร หรือ CPP เพื่อเข้ามาเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการนี้ โดยคณะกรรมการได้คัดเลือกบริษัทรับก่อสร้างและวางท่อขนส่งน้ำมัน CPP เพราะมีความชำนาญด้านการวางท่อขนส่งก๊าซและน้ำมันขนาดใหญ่มากกว่า 40 ปี มีประสบการณ์และผลงานการวางท่อขนส่งน้ำมัน และก๊าซทั่วโลกกว่า 100,000 กิโลเมตร ในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง รัสเซีย และในเอเชีย บริษัทฯ จึงมีความมั่นใจว่า CPP จะสามารถทำการดำเนินการก่อสร้างและวางท่อน้ำมันให้ได้ตามมาตรฐานโลก โดยมีมูลค่าของสัญญาจ้างกว่า 9,000 ล้านบาท และกำหนดระยะเวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 30 เดือน คาดว่าระบบขนส่งน้ำมันทางท่อนี้จะสามารถเริ่มเปิดดำเนินการได้ประมาณไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 นี้”
สำหรับโครงการนี้ประกอบไปด้วยการวางระบบท่อขนส่งน้ำมันระยะทาง 342 กิโลเมตร ผ่าน 55 ตำบล 18 อำเภอ 5 จังหวัด โดยการก่อสร้างเริ่มจากอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ไปสิ้นสุดที่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น และมีการก่อสร้างคลังน้ำมันปลายทางที่อำเภอบ้านไผ่ ขนาด 140 ล้านลิตร ทั้งนี้เมื่อระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อดังกล่าวแล้วเสร็จ จะลดปริมาณการขนส่งน้ำมันทางรถบรรทุกลงไปจำนวน 88,000 เที่ยวต่อปี คิดเป็นการประหยัดเชื้อเพลิงในการขนส่งลงไปได้กว่า 15.4 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งนับเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง ตลอดทั้งยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ถนน เพิ่มความปลอดภัย ลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุ และลดการสูญเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงถนนไปได้อีกเป็นจำนวนมาก และยังทำให้ราคาน้ำมันในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศมีราคาที่ลดลงเพราะมีต้นทุนการขนส่งที่ต่ำลง
นอกจากนี้บริษัทฯ และไชน่า ปิโตรเลียมไปป์ไลน์ บูโร อยู่ระหว่างร่วมมือกันในการศึกษาความเป็นไปได้ในการที่จะขยายการวางท่อขนส่งน้ำมันไปยังประเทศเพื่อนบ้านคือประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งน้ำมันไปจำหน่ายยังประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอาศัยการนำเข้าน้ำมันจากประเทศไทยปีละกว่า 1,200 ล้านลิตร และมีแนวโน้มการบริโภคน้ำมันที่สูงเพิ่มขึ้นทุกปีจากความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมในประเทศดังกล่าว
“บริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากกระทรวงพลังงานเห็นชอบให้เป็นผู้ดำเนินโครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จนอกเหนือจากประโยชน์ที่จะได้รับในด้านราคาน้ำมันที่ลดลง ประสิทธิภาพในการขนส่งที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และส่งผลให้เศรษฐกิจในภูมิภาคขยายตัวเพิ่มขึ้น ประเทศไทยก็จะมีความมั่นคงในด้านการจัดหาพลังงานมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศโดยมีส่วนทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาคอาเซียนอย่างแท้จริง” นายภาณุ กล่าวเพิ่ม
ทั้งนี้ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 เห็นชอบให้ดำเนินการพัฒนาโครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งบริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด หรือ TPN ได้รับความเห็นชอบให้เป็นผู้ดำเนินโครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยที่ผ่านมา TPN ได้พัฒนาโครงการทั้งด้านการสำรวจเส้นทาง การออกแบบระบบทางวิศวกรรม และตลอดจนยื่นผลการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นที่เรียบร้อยและได้รับการอนุมัติผลการศึกษาเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562.