SPCG บุกตลาดโซลาร์รูฟ เป้ารายได้ 2 พันล้าน
SPCG เร่งบุกตลาดโซลาร์รูฟปี 62 หลังบริษัทลูก SPR ธุรกิจในเครือเติบโตก้าวกระโดดช่วง 5 ปีหลัง ตั้งเป้าธุรกิจโซลาร์รูฟปี 62 เติบโตกว่า 40 % กวาดรายได้ 2 พันล้าน
นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG และ ประธานกรรมการ บริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด หรือ SPR กล่าวว่าในปี 2560 บริษัมมีรายได้กว่า 1,500 ล้านบาท ดังนั้นในปีนี้ จึงตั้งเป้าการเติบโตของรายได้กว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมของตลาดโซลาร์รูฟ ยังมีโอกาสขยายตลาดได้อีกมาก ไม่จำกัดเฉพาะในกรุงเทพและปริมณฑลเท่านั้น แต่จะขยายฐานลูกค้าครอบคลุมทั่วประเทศ เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมมีอยู่ในทุกภูมิภาค ขณะเดียวกันภาคครัวเรือนก็มีการเติบโตโดยเฉพาะจังหวัดหัวเมืองใหญ่ เช่น ขอนแก่น อุดรธานี ตลาดของโซลาร์รูฟจึงยังสามารถขยายได้อีกมาก
“เรามองเห็นโอกาสทางธุรกิจ เพราะทุกคนล้วนต้องการลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า การเติบโตของ SPR ก็ส่งผลดีกับการเติบโตของ SPCG ด้วย ปัจจุบันรัฐบาลผลัดกันให้ภาคอุตสาหกรรมกระจายออกยังภูมิภาคต่างๆ โอกาสทำการตลาดยังมีอีกมาก ซึ่งการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา นอกจากจะช่วยเรื่องการประหยัดไฟฟ้าโดยตรงแล้ว ยังมีส่วนในการช่วยลดโลกร้อน และหากเป็นนิติบุคคลก็สามารถนำไปหักค่าเสื่อมราคาของอุปกรณ์ได้เพิ่มเติม อีกทั้งยังได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กล่าวคือ หากธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใดไม่ได้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีซ้ำซ้อน สามารถนำเงินลงทุนในการติดตั้งโซลาร์รูฟ 50% ไปหักภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ซึ่งสิทธิประโยชน์นี้จะมีจนถึงปี 2563 นี้เท่านั้น”
สำหรับภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่สนใจติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ปัจจุบันมีสถาบันการเงินที่เข้ามาช่วยสนับสนุนสินเชื่อแล้ว ด้วยวงเงินอนุมัติ 100 % ของเงินลงทุนในรูปแบบของลิสซิ่ง หรือวงเงินสินเชื่อระยะยาว ซึ่ง SPR มีส่วนสำคัญในการพิสูจน์ให้สถาบันการเงินเห็นและสร้างความเชื่อมั่นจนสามารถปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าผู้ประกอบการที่สนใจได้ SPR จึงพร้อมให้บริการแบบ One Stop Service ทั้งในเรื่องการออกแบบ ติดตั้งรวมทั้งประสานงานกับสำนักงานบีโอไอและสถาบันการเงินให้ด้วย
“การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา มีประโยชน์ในทางธุรกิจหลายด้าน แต่สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์รูฟทั้งหมด สามารถนำไปรับการรับรองการลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของโลก หรือที่เรียกว่า คาร์บอนเครดิต กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ให้การรับรองที่เรียกว่า T-VER และสามารถนำคาร์บอนเครดิตที่ได้ไปจำหน่ายสร้างรายได้แก่บริษัทเพิ่มเติมอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ดี SPCG ไม่ได้ต้องการภาคเอกชนมุ่งเน้นในเรื่องรายได้จากขายคาร์บอนเครดิต แต่อยากให้ตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมซึ่งเชื่อว่าเป็นความภูมิใจของทุกคนที่ได้มีส่วนร่วมด้วย” นางวันดี กล่าว