อานิสงส์ประมูลแหล่งก๊าซ ค่าไฟลดอีก 20 ส.ต.
ศิริ เผย อานิสงส์ ประมูลแหล่งปิโตรเลียม บงกช-เอราวัณ ช่วยลดราคาก๊าซธรรมชาติได้ถึง 5.5 แสนล้านบาทตลอด 10 ปี ฉุด ค่าไฟฟ้าลดลง 20 สตางค์ต่อหน่วย NGV ลด 1.00 บาทต่อกิโลกรัม
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังลงนาม สัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แหล่งเอราวัณ) กับ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ในกลุ่ม บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด ในกลุ่มบริษัท มูบาดาลา จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และ สัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยหมายเลข G2/61 (แหล่งบงกช) กับ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ว่า หลังจากนี้ภายใน 45 วัน ผู้ได้รับสัญญาจะต้องส่งแผนงานภายในปีแรก เพื่อที่จะร่วมดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้การประมูลดังกล่าว ได้กำหนดให้ผูกพันปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำสำหรับ 10 ปีแรกของระยะเวลาการผลิต ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับแหล่งเอราวัณ และ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับแหล่งบงกช ซึ่ง ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตทั้ง 2 แปลง ได้เสนอราคาค่าคงที่สำหรับราคาก๊าซธรรมชาติที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู เป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาปัจจุบันของทั้ง 2 แปลง นับเป็นจุดเริ่มต้นของฐานพลังงานใหม่
ทำให้มีส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติ 5.5 แสนล้านบาท ตลอด 10 ปี ซึ่งส่วนลดราคาก๊าซฯดังกล่าวจะส่งต่อไปยังผู้บริโภคทั้งหมด แบ่งเป็น ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีเงินส่วนลดเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับ LPG เพื่อสร้างเสถียรภาพราคา LPG ได้ราว 1 บาท/กิโลกรัม , ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้ราคา NGV ลดลงราว 0.50-1.00 บาท/กิโลกรัม และปิโตรเคมี วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีต้นทุนที่แข่งขันได้
สำหรับวงเงินอีก 2 แสนล้านบาท จะเป็นส่วนลดสำหรับราคาค่าไฟฟ้า คาดว่าจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง 15-20 สตางค์ต่อหน่วย จากเดิมที่ 3.6 บาทต่อหน่วย มาอยู่ที่ 3.4 บาท/หน่วย อีกทั้งผลจากการที่มีการผลิตก๊าซฯในปริมาณที่มากพอที่จะเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศในราคาที่ไม่แพงได้เป็นพื้นฐานในการเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซฯในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP 2018) จาก 30% เป็น 53% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า
นายศิริ กล่าวว่า การลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตระหว่างกระทรวงพลังงานกับผู้ที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยทั้ง 2 แปลงวันนี้ จะสามารถเป็นหลักประกันว่าประเทศไทยและประชาชนจะมีก๊าซฯจากแหล่งปิโตรเลียมในประเทศใช้อย่างต่อเนื่องในราคาที่ไม่แพง รวมทั้งจะสามารถสร้างเสถียรภาพด้านพลังงาน เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศให้แข็งแกร่งต่อไป.