กฟผ.ทุ่มงบ 6 แสนลบ.สร้างโรงไฟฟ้า – สายส่ง
กฟผ.เตรียมงบลงทุน 6 แสนล้านบาท สร้างโรงไฟฟ้าใหม่-ระบบส่ง ช่วง 10 ปี เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าอีก 5,400 เมกะวัตต์ ตามแผน PDP 2018
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.เตรียมใช้เงินลงทุนประมาณ 6 แสนล้านบาทในช่วง 10 ปีข้างหน้าเพื่อรองรับการสร้างโรงไฟฟ้าหลักแห่งใหม่อีกหลายโรง ที่จะมีกำลังผลิตรวมประมาณ 5,400 เมกะวัตต์ (MW) วงเงินราว 3 แสนล้านบาท และวงเงินอีกราว 3 แสนล้านบาท จะใช้การก่อสร้างระบบส่งเพื่อรองรับกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะทยอยเข้าระบบ ซึ่งเป็นไปตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ฉบับใหม่ ปี 2561-2580 (PDP 2018) ที่ปัจจุบันแม้จะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ
ทั้งนี้ ตามร่างแผน PDP 2018 รัฐบาลให้ กฟผ.สร้างโรงไฟฟ้าใหม่กำลังผลิตรวมประมาณ 5,400 เมกะวัตต์ในช่วง 10 ปีข้างหน้า ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำพอง ขนาด 650 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 68 , โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ขนาด 600 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 69 ,โรงไฟฟ้าพระนครใต้ 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 69 และอีก 1,400 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 70 ,โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ขนาด 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 70 และอีก 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 72 ,โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ขนาด 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 71
นายวิบูลย์ ยังกล่าวอีกว่า ตามร่างแผน PDP 2018 ภารกิจของ กฟผ. แบ่งออกเป็น 3 ภารกิจสำคัญ ได้แก่ 1.การดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้ารายภูมิภาค ควบคู่กับการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้มีความเสถียรมากขึ้น เช่น โครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. โดยจะนำร่องในเขื่อนสิรินธร จำนวน 45 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าในเดือนธ.ค.63 โซลาร์เซลล์จะช่วยผลิตไฟฟ้าเสริมพีคในช่วงกลางวัน และโรงไฟฟ้าพลังน้ำจะช่วยผลิตไฟฟ้าเสริมพีคในช่วงกลางคืน รวมถึงยังเป็นต้นแบบการศึกษาเรื่องความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้าจากความไม่เสถียรของพลังงานหมุนเวียนภายในระบบส่งไฟฟ้าด้วย
ตามร่างแผน PDP2018 กฟผ.เสนอให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำและพลังน้ำ รวม 2,725 เมกะวัตต์ ซึ่งเท่ากับกำลังผลิตไฟฟ้าของเขื่อนกฟผ.ในปัจจุบัน เพื่อนำโซลาร์ลอยน้ำมาเสริมระบบการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนให้สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ยาวนานขึ้น จากเดิมที่กำลังผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนจะทำได้ 3-6 ชั่วโมง เมื่อมีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำก็จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มอีกประมาณ 8 ชั่วโมง ทำให้ชั่วโมงการผลิตไฟฟ้าในแต่ละวันยาวนานขึ้นเป็น 11-14 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำส่วนใหญ่คาดว่าจะเข้าระบบในช่วง 10 ปีหลังของร่างแผน PDP2018
2.การพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าเพื่อเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน รองรับการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้า (Grid Connection) ในภูมิภาค โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมทางด้านเทคนิค กฎระเบียบ ภาษี และการพาณิชย์ เป็นต้น
3.การเตรียมการรองรับพลังงานหมุนเวียน (Grid Modernization) กฟผ.ได้พัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS) ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูง 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ขนาด 16 เมกะวัตต์ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี ขนาด 21 เมกะวัตต์ กำหนดแล้วเสร็จในปี 63 ถือเป็นเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เพื่อช่วยลดความผันผวนของพลังงานทดแทนและบริหารจัดการสายส่งให้สามารถนำไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ