GUNKUL ผนึก ยูนิคอร์ด ลุยติดตั้งโซลาร์รูฟ
บมจ. กันกลุเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) และ บมจ. ยูนิคอร์ด (UCT) ร่วมลงนามในสัญญาโครงการก่อสร้างระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา(Solar PV Rooftop) กำลังการผลิต 1.92 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการประมาณ 60 ล้านบาท บนพื้นที่11,000 ตารางเมตร สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าโดยเฉลี่ยปีละ 2.6 ล้านหน่วยต่อปี คาดเริ่มติดตั้งเมษายนนี้
นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมลงนามในสัญญาโครงการก่อสร้างระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) กับ บริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1.92 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เฟส แบ่งเป็นเฟส 1 ประมาณ 1.24 เมกะวัตต์ และเฟส2 ประมาณ 680 กิโลวัตต์
“ความร่วมมือทางธุรกิจกันในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของกลุ่มบริษัทฯ และจะเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า พลังงานแสงอาทิตย์สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ สำหรับภาคอุตสาหกรรม และภาคการผลิตได้ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าที่ถูกลง และสามารถนำมาใช้เป็นพลังงานหลักได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานให้กับบริษัท ยูนิคอร์ด โดยคาดว่าจะทยอยก่อสร้างได้ช่วงเดือนเมษายน” นางสาวโศภชากล่าว
ทั้งนี้ ความร่วมมือของทั้งสองบริษัทยังคงผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานทดแทน เพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงาน โดยคาดว่าจะดำเนินการศึกษาความสามารถในการติดตั้งโซล่าแบบทุ่นลอยน้ำให้กับพื้นที่ผิวน้ำที่มีศักยภาพของบริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ร่วมกันในเฟสถัดไป
ด้านนายอมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจผลิตและส่งออก ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า อาหารกระป๋อง และอาหารสัตว์ รายใหญ่ของประเทศไทย กล่าวว่า ด้วยศักยภาพของ GUNKUL ในการจัดหาโซลูชั่นด้านพลังงานทดแทนให้กับกลุ่มลูกค้าธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่างๆ โดยมีทีมงานที่มีความชำนาญ และทุ่มเทเพื่อการพัฒนาในธุรกิจพลังงานทดแทน ทำให้บริษัทฯ มั่นใจในการร่วมมือกันครั้งนี้ ซึ่งเชื่อว่าโครงการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา ขนาดกำลังการผลิต 1.92 เมกะวัตต์ จะทำให้ต้นทุนทางด้านพลังงานไฟฟ้าของธุรกิจลดลงราว 7% โดยจะนำไฟฟ้าไปใช้ทั้งในส่วนของห้องเย็น และกระบวนการผลิตจำนวนมาก
“ปัจจุบันบริษัทฯ มีการใช้กำลังไฟฟ้าในโรงงานรวม 6 เมกะวัตต์ต่อเดือน จึงมีแนวคิด เพื่อลดต้นทุนด้านไฟฟ้าเพิ่มเติม ซึ่งมองว่าการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา น่าจะเป็นตัวเลือกหนึ่ง ที่ช่วยประหยัดพลังงานที่ใช้อยู่และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งมั่นใจว่าโครงการนี้จะมีส่วนช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ ในฐานะเป็นโรงงานสีเขียว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบริษัทฯได้” นายอมรพันธุ์กล่าว