ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น หลังโอเปกลดผลิต
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังกลุ่มโอเปกปรับลดการผลิต โดย ซาอุดิอาระเบีย วางแผนลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 500,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน มี.ค. 62
รายงานจาก บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า สถานการณ์ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังกลุ่มโอเปก เปิดเผยตัวเลขการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มปรับตัวลดลง 800,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ม.ค. 62 ไปอยู่ที่ระดับ 30.81 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่ปรับลดกำลังการผลิตสูงที่สุดในกลุ่มที่ระดับ 350,000 บาร์เรลต่อวัน
ทั้งนี้ซาอุดิอาระเบียวางแผนที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 500,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน มี.ค. 62 ไปอยู่ที่ระดับ 9.8ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าข้อตกลงที่ทำไว้กับกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรที่ระดับ 10.31ล้านบาร์เรลต่อวัน
ขณะที่สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจาสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 8 ก.พ. 62 ปรับตัวลดลง 998,000 บาร์เรล ไปสู่ระดับ 447.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.7ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับตัวลดลง 502,000บาร์เรล
รายงานจาก บริษัท ไทยออยล์ ยังระบุว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า อาจจะมีการเลื่อนกำหนดเส้นตายในการบรรลุข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จากเดิมในวันที่ 1มี.ค. 62ออกไป หากสหรัฐฯ และจีนเข้าใกล้การบรรลุข้อตกลงกันได้
อย่างไรก็ตาม กลุ่มโอเปกคาดการณ์ว่าในปี 2562 อุปสงค์น้ำมันดิบทั่วโลกจะอยู่ที่ระดับ 30.59ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลง 240,000บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ในเดือนก่อนหน้า
ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานน้ำมันเบนซินในภูมิภาคยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับประเทศจีนเตรียมส่งออกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อุปทานมีแนวโน้มปรับตัวลดลงหลังโรงกลั่นเข้าใกล้ช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังประเทศจีนและคูเวตส่งออกน้ำมันดีเซลสู่ตลาดมากขึ้น รวมทั้งอุปสงค์น้ำมันดีเซลในประเทศจีนยังคงอ่อนตัว
ไทยออยล์ยังคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ โดย ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 51-56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 59-64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนปัจจัยที่น่าจับตามอง คือ การตกลงปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้ตลาดน้ำมันดิบตึงตัวขึ้น โดยล่าสุด ซาอุดิอาระเบียจะปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลงเพิ่มเติมอีกราว 100,000บาร์เรลต่อวัน จากระดับการผลิตในเดือน ม.ค. 62 สู่ระดับ 10.1ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการปรับลดมากกว่าที่ได้ตกลงไว้
การคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลาโดยสหรัฐฯ เพื่อกดดันให้รัฐบาลมาดูโรออกจากตำแหน่ง โดยการคว่ำบาตรนี้อาจส่งผลให้เวเนซุเอลาต้องเปลี่ยนทิศทางการส่งออกน้ำมันดิบราว 500,000บาร์เรลต่อวัน ไปยังประเทศอื่นๆ แทนสหรัฐฯ
และความคืบหน้าการเจรจาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนก่อนถึงเส้นตายในเดือน มี.ค. 62 ซึ่งหากสหรัฐฯ และจีนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ก่อนกำหนดดังกล่าว จะส่งผลให้สหรัฐฯ อาจเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่ารวม 200,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ จากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25และคาดว่าจีนจะทำการตอบโต้คืนโดยการเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน.