ปตท.เปิดแผนลงทุนปี62 เทงบลง EEC 4 แสนลบ.
กลุ่ม ปตท.เปิดแผนลงทุนปีนี้ 450,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ปตท. 130,000 ล้านบาท และการลงทุนทั้งเครือ 320,000 ล้านบาท พร้อมจัดงบปีละ 300,000-400,000 ล้านบาท ลงทุน อีอีซี 5 ปี
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ปีนี้กลุ่มปตท.ทั้งหมดจะเพิ่มการลงทุนเป็น 450,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนของปตท. 130,000 ล้านบาท และการลงทุนของทั้งเครือ 320,000 ล้านบาท แบ่งเป็น บริษัท โกลบอล ซินเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) หรือ จีพีเอสซี 140,000 ล้านบาท บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. 60,000 ล้านบาท บริษัท โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือจีซี 50,000 ล้านบาท
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) 40,000 ล้านบาท บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) 30,000 ล้านบาท เนื่องจากมีโครงการที่รอการลงทุนเพิ่มเติม อาทิ การสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) การสร้างท่อก๊าซเส้นที่ 5 เชื่อมระหว่างฝั่งตะวันออกและตะวันตก และการขยายเส้นทางโลจิสติกส์เชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ น้ำมันอากาศยาน
นอกจากนี้ กลุ่มปตท.ยังมีแผนการลงทุนในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างต่อเนื่อง ในช่วง 5 ปีนี้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุน ปีละประมาณ 300,000-400,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนของโครงการพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง และจะเป็นการสร้างนวัตกรรมให้กับประเทศ รวมถึงยังศึกษาขยายไปสู่ธุรกิจโลจิสติกส์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้
ด้านนาย พงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) บอกว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการขายขึ้น 5 % จากปีก่อนที่ทำได้ 318,000 บาร์เรลต่อวัน และเตรียมงบลงทุนที่ 60,000 ล้านบาท ในการดำเนินธุรกิจซึ่งจะเน้นในด้านการสำรวจเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ได้กำไรได้ดีกว่า ทั้งนี้การร่วมลงทุนและเข้าซื้อกิจการ(M&A) จะเห็นการสรุปเร็ว ๆ นี้ซึ่งอยู่ในแถบประเทศที่มีการทำธุรกิจอยู่แล้ว อาทิ เมียนมา มาเลเซีย ออสเตรเลีย โอมาน และยูเออี
ขณะเดียวกันปีนี้บริษัทจะดำเนินการขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียมทั้งหมด 9 แห่ง แบ่งเป็นเมียนมา 5 แห่ง มาเลเซีย 3 แห่งและออสเตรเลีย 1 แห่ง ซึ่งในแหล่งเมียนมามี 1 แห่งที่เป็นเป็นแหล่งน้ำลึก ถ้ามีการขุดเจาะสำเร็จ คาดว่าจะเป็นโมเดลให้รัฐบาลเพื่อที่จะเปิดสำรวจให้พื้นที่อันดามัน ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทมีปริมาณสำรอง 5 ปี อยู่ที่ 670 ล้านบาร์เรล ซึ่งหากแหล่งเอราวัณและบงกชที่ได้สัญญาใหม่เข้ามาเพิ่มจะเป็น 900 ล้านบาร์เรลสามารถสำรองได้ 7 ปี
สำหรับแหล่งบงกชและเอราวัณในอ่าวไทยนั้น ขณะนี้ บริษัทอยู่ระหว่างรอการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต คาดว่าจะลงนามได้ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่และกรรมการผู้จัดการใหญ่ จีพีเอสซี กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในปีนี้ คาดว่า จะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการลงทุน ได้แก่ การเข้าซื้อโซลาร์ฟาร์ม 9 โครงการ, โครงการน้ำลิก และไซยะบุรี ตามสัดส่วนถือหุ้น รวมถึงยังมีโอกาสการเติบโตจากการเข้าซื้อหน่วยผลิตไฟฟ้า (Energy Recovery Unit : ERU) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ CFP ของไทยออยล์ และยังจะเข้าร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าในเมียนมากับ ปตท.สผ. ในอนาคตด้วย และเตรียมงบประมาณ 140,000 ล้านบาท ตามวงเงินที่ขออนุมัติผู้ถือหุ้น เข้าซื้อโรงไฟฟ้าโกลว์
ขณะที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ จีซี กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปีนี้ถือว่าไม่น่ากังวลนักจึงมั่นใจว่าจีซีจะรักษาผลประกอบการได้ตามเป้าหมาย และก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในปี 2020 หรือ 2563 เพราะมีการลงทุนช่วง3ปี(2561-63)ถึง 140,000 ล้านบาท ขณะที่ปีนี้จะมีการลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนตามแผน 40,000 ล้านบาท ลงทุนตั้งโรงงานรีไซเคิลเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน 3,000 ล้านบาท และร่วมลงทุนประมาณ 5,000- 1 หมื่นล้านบาท