พพ.โชว์ “บ้านอีโค่” ประหยัดไฟ 30 %
พพ. ทุ่มงบ 10 ล้าน ศึกษา-ออกแบบ บ้านประหยัดพลังงาน มั่นใจช่วยประหยัดไฟไม่ต่ำกว่า 30 % ต่อหลัง วางแนวทางส่งเสริม 5 ปี ก่อน ออกระเบียบบังคับใช้
นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กรมฯ ได้ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่าจ้าง
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการศึกษาพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานในบ้านอยู่อาศัยขึ้นเป็นครั้งแรก และสร้างต้นแบบบ้านประหยัดพลังงาน เพื่อเป็นแนวทางส่งเสริมการจัดการพลังงานที่อยู่อาศัย
ทั้งนี้ผลการศึกษา ระบุว่าเกณฑ์มาตรฐานปี 2562 – 2564 บ้านเดี่ยวควรมีค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 25 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ตร.ม.-ปี จากปัจจุบันที่ใช้ไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 35 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ตร.ม.-ปี และสำหรับห้องแถว ทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด ควรมีค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 44 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ตร.ม.-ปีจากปัจจุบันใช้ไม่ต่ำกว่า54 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ตร.ม.-ปี สำหรับพลังงานไฟฟ้าในระบบปรับอากาศและระบบแสงสว่าง
นอกจากนั้นยังพบว่า บ้านที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน ประสพปัญหาในการใช้พลังงาน โดยส่วนใหญ่ ไม่ใส่ฉนวนเหนือฝ้าเพดาน ไม่มีชายคากันแดด มีช่องเปิดแบบบานเกร็ดในพื้นที่ปรับอากาศ เปิดห้องน้ำเข้าสู่ห้องนอนโดยตรง ไม่ปรับเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้เป็นเวลานาน ใช้เครื่องปรับอากาศที่มีคุณภาพต่ำ ใช้หลอดไฟที่ไม่มีโคมสะท้อนแสง และมีพฤติกรรมในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบเปิดแล้วไม่ปิด เหล่านี้ล้วนทำให้สิ้นเปลืองพลังงานเป็นอย่างมาก
“สถานการณ์การใช้พลังงานของประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแบบไร้ขีดจำกัด หนึ่งในสัดส่วนสำคัญมาจากการใช้พลังงานในที่อยู่อาศัย ปัจจุบัน มีสัดส่วนจำนวนบ้านเรือนที่มีการใช้ไฟเกินทั่วประเทศเฉลี่ยราวร้อยละ 40 หรือคิดเป็นมูลค่าราว 10,000ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการใช้พลังงานในระบบปรับอากาศเกินความจำเป็น ซึ่งบ้านประหยัดพลังงานนี้จะสามารถช่วยประหยัดพลังงานได้ไม่ต่ำกว่า 30 %ต่อหลังได้”
นายสาร์รัฐ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันที่อยู่อาศัย ประเภทบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ทั่วประเทศมีประมาณ 25 ล้านครัวเรือน ซึ่งมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นประมาณ 5 แสนหลังต่อปี ส่งผลให้มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าโดยรวมเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 3 % โดยมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าอยู่ในอันดับที่ 3 รองจาก ภาคขนส่ง 40 % ภาคอุตสาหรรม 35 % บ้านที่อยู่อาศัย 20%
ส่วนแนวทางการส่งเสริมดังกล่าว คือ การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง สร้างความมั่นใจ และขยายผล เพื่อให้ผู้ประกอบการนำแบบบ้านดังกล่าวไปพัฒนาที่อยู่อาศัยในอนาคต โดยจะใช้ระยะเวลาส่งเสริม 5 ปี หลังจากนั้นอาจจะออกเป็นกฎ ระเบียบ บังคับใช้ในขั้นตอนต่อไป
ด้าน ผช.ศ.รุ่งโรจน์ วงศ์มหาศิริ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หัวหน้าโครงการศึกษาเพื่อจัดทำเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัย กล่าวว่า แบบบ้านประหยัดพลังงาน หรือบ้าน “อีโค่” ได้ออกแบบมาเป็นจำนวน 12 แบบ เพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดเทคโนโลยีที่อยู่อาศัย และความจำเป็นในการจัดสรรพลังงาน อาทิ ระบบพลังงานทดแทน เอไอในบ้านอยู่อาศัย รถพลังงานไฟฟ้า ฯลฯ โดยการออกแบบบ้านในประเทศส่วนใหญ่ ยังตกอยู่ภายใต้กลไกทางการตลาด ที่เน้นตอบสนองความต้องการด้านความสวยงาม และไลฟ์สไตล์ผู้ซื้อ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด โปรแกรมคำนวนพลังงาน และแบบแปลนบ้านออนไลน์ ได้ที่ www.dede.go.th