ปตท.ลงขัน ตั้งโรงแยกก๊าซรับอีอีซี
ปตท.-บีไอจี ร่วมทุน 1,500 ลบ.ตั้งหน่วยแยกก๊าซอุตสาหกรรม เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ปี’64 รองรับลงทุนขยายตัวในอีอีซี
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการหน่วยแยกอากาศ โดยใช้พลังงานความเย็นเหลือทิ้งจากก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี (LNG) ในการผลิตก๊าซอุตสาหกรรม หรือ Air Separation Unit(ASU) ร่วมกับ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ บีไอจี (BIG) ก๊าซอุตสาหกรรมชนิดต่างๆ ประกอบด้วย ไนโตรเจน ออกซิเจน และอาร์กอน เพื่อรองรับความต้องการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ที่มีความต้องการ และขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ใช้เงินลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท กำลังผลิตประมาณ 450,000 ตันต่อปี คาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2564 พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐในโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC)
อย่างไรก็ดี การดำเนินโครงการดังกล่าว ยังช่วยลดต้นทุนในกระบวนการผลิตได้ รวมถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก28,000 ตันต่อปี และลดการปล่อยน้ำเย็นของธุรกิจแอลเอ็นจีของ ปตท. หรือ PTTLNG ลงสู่ทะเลถึง 2,500 ตันต่อชั่วโมง
ด้านนายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) กล่าวว่าโครงการนี้ บีไอจี (BIG) ถือหุ้นในสัดส่วน 49% และ ปตท. ร่วมกับบริษัทในเครือ ปตท. ถือหุ้น 51% เป็นการรวมศักยภาพของทั้ง 2 องค์กร ในการนำความรู้ ความชำนาญในด้านเทคโนโลยีการผลิต นวัตกรรม และการตลาดก๊าซอุตสาหกรรม เข้าร่วมกัน.