ก.พลังงาน เร่งกู้วิกฤตปาล์มน้ำมันตกต่ำ
ก.พลังงาน เฟ้นมาตรการกู้วิกฤตราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ มอบ กฟผ.เร่งซื้อ CPO ที่เหลือ 3.7 หมื่นตันเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้า พร้อมเตรียมซื้อ B100 ล่วงหน้าเพื่อดูดซับสต็อก
เมื่อ 8 พ.ย.63 กระทรวงพลังงาน ได้ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางการแก้ปัญหา ราคาปาล์มน้ำมันที่ตกต่ำจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ออกมามากในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมาโดยที่ประชุมเห็นชอบให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ที่เหลือให้ครบตามมติ ครม.จำนวน 200,000 ตัน เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบัน กฟผ. ได้รับซื้อไปแล้วจำนวน 2 ครั้ง รวม 162,450 ตัน คงเหลืออีก 37,550 ตัน
ที่ประชุมยังได้มอบให้กรมธุรกิจพลังงานไปประเมินเพื่อหากลไกในการดูดซับสต็อกไบโอดีเซล (B100) ล่วงหน้า เพื่อนำไปใช้ในการผลิต B10 ตามนโยบายส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลของกระทรวงพลังงาน เพราะขณะนี้ยอดการใช้ดีเซลในช่วงต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาเริ่มกลับมาอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในสัปดาห์หน้า
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นการหารือร่วมหลายฝ่ายในการแก้ปัญหาเรื่องราคาปาล์มน้ำมัน ซึ่งที่ประชุมมีแนวทางหลากหลายในการช่วยแก้ปัญหาผลผลิตราคาปาล์มที่ตกต่ำกว่าปกติ เพราะเนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลที่มีผลผลิตปาล์มน้ำมันออกมามาก ประกอบกับการบริโภคพลังงานที่ลดลงจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด จึงได้มอบแนวทาง ให้ กฟผ.เร่งรับซื้อ CPO ที่เหลืออีกราว 37,000 ตัน
และให้กรมธุรกิจพลังงานเร่งหามาตรการซื้อ B100 ล่วงหน้าเพื่อดูดซับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในตลาดให้ได้มากที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวสวนปาล์มที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำอยู่ในขณะนี้
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้หารือกับ พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาฯนายกฯ ฝ่ายการเมือง ที่ได้ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับปาล์มน้ำมันในพื้นที่ปฏิบัติจริง โดยได้บูรณาการความร่วมมือในพื้นที่เพื่อพิจารณาถึงสาเหตุว่ามีสิ่งใดเป็นกลไกหลักที่ทำให้ปาล์มน้ำมันราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อจะได้นำมาเป็นแนวทางในการวางมาตรการช่วยแก้ปัญหาได้ในโอกาสต่อไป