“กฟน.” แจง เม.ย.ค่าไฟแพงหลังคืนเงินประกันการใช้ไฟ
จากกรณีที่มีประชาชนเกิดข้อสงสัย เรื่องการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าของ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ส่งผลให้มีการคิดค่าไฟฟ้าของเดือน เมษายน 2563 ในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าปกตินั้น
การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้ชี้แจง โดยยืนยันว่า การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ไม่ส่งผลต่อการคิดอัตราค่าไฟฟ้า เนื่องจาก กฟน.ได้ดำเนินการคิดอัตราค่าไฟฟ้าเป็นไปตามข้อกำหนดของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ส่วนเงินประกันการใช้ไฟฟ้านั้นเป็นเงินที่ กฟน.แยกจัดเก็บในบัญชีธนาคารเฉพาะ ไม่รวมกับรายได้โดยที่ผ่านมายังนำดอกผลไปใช้ในการช่วยเหลือสังคม และยังนำเงินส่วนดอกผลยังคงส่งคืนผ่านการหักค่าไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าตามข้อกำหนดของ กกพ. รวมถึงเมื่อมีมาตรการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า กฟน. จะคำนวณดอกผลจนถึงวันที่มีการลงทะเบียนขอคืนเงินประกัน เพื่อส่งคืนดอกผลให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด
สำหรับการปรับเปลี่ยน Smart meter หรือเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่จะช่วยให้การบันทึกหน่วยไฟฟ้าทำได้ผ่านระบบดิจิทัลนั้น ถือเป็นโครงการหนึ่งภายใต้โครงการวางระบบ Smart Metro Grid ที่ MEA ได้ให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีในการรับส่งข้อมูลและสถานะของอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบได้แบบสองทาง (two-way communication) มีคุณสมบัติทั้งในการ monitor และแสดงผลได้ทันที (real time) เป็นประโยชน์ทั้งในด้านการหาสาเหตุของปัญหาเมื่อเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้อง และการวิเคราะห์พื้นที่ที่มีระบบไฟฟ้าขัดข้อง เพื่อวางแผนและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว
แต่เนื่องด้วยจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ประเภท 1 และกิจการขนาดเล็ก ประเภท 2 นั้น มีจำนวนมากกว่า 3.9 ล้านราย จึงทำให้การเปลี่ยนอุปกรณ์ Smart Meter ต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เจ้าหน้าที่จดหน่วยแล้ว ยังคงมีอัตราส่วนการใช้งบประมาณที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
อย่างไรก็ดีในปี 2563 กฟน.ยังคงมีแผนที่จะติดตั้ง Smart Meter เป็นจำนวน 33,265 ราย ก่อนที่จะดำเนินการขยายจำนวนเพิ่มมากขึ้นจนครอบคลุมทั้งพื้นที่ให้บริการของ กฟน.ต่อไป.