ใกล้คลอดแล้ว! ระเบียบ โซลาร์ภาคประชาชน
กกพ. ปรับยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงานใหม่ พร้อมออกระเบียบรองรับโซลาร์ภาคประชาชนต้นปี 62 และปรับเกณฑ์การออกใบอนุญาตขนส่งก๊าซธรรมชาติ ส่วนผลพิจารณาคำอุทธรณ์ GPSC 13 ธ.ค.นี้ รู้ผล
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกากับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.อยู่ระหว่างทบทวน แผนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงาน ฉบับปัจจุบัน พร้อมทั้งวางกรอบแนวทางการกำกับดูแลภาคพลังงาน เพื่อสร้างความโปร่งใส เปิดเผย และตรวจสอบได้ สร้างความชัดเจนกฎระเบียบ และความเป็นธรรมให้กับองค์กรธุรกิจภาคเอกชน โดยจะนำเอาแนวทางการปฏิรูปภาคพลังงาน ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศ ด้านพลังงาน เป็นแนวทางในการขับเคลื่อน งานกำกับดูแลภาคพลังงานของประเทศด้วย ขณะนี้ได้อยู่ระหว่างดำเนินการ อาทิ ระบบการออกใบอนุญาต โรงไฟฟ้าแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (OSS) การพัฒนา Big Data สำหรับการกำกับกิจการพลังงาน การสนับสนุนการพัฒนาโครงการโซลาร์ภาคประชาชน โครงการโซลาร์เสรี ตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงการออกระเบียบเพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันโดยผ่านเทคโนโลยี Blockchain
พร้อมกันนั้นในปี2562 ยังเตรียมออกระเบียบเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ทั้งในส่วนของโซลาร์เสรี ,โซลาร์ภาคประชาชน หลังจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ฉบับใหม่ ได้รับความเห็นชอบจากประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ที่คาดว่าจะมีการประชุมพิจารณาในวันที่ 7 ม.ค.2562
รวมทั้งยังจะปรับเกณฑ์การออกใบอนุญาตสำหรับธุรกิจก๊าซธรรมชาติ จากที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ และใบอนุญาตประกอบกิจการเป็นผู้จัดหาและค้าปลีกก๊าซธรรมชาติ แต่ปัจจุบันรูปแบบการจัดหาและค้าส่งก๊าซฯ มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ผ่านทางรถขนส่งซึ่งไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแลของกกพ.ที่จะดูแลเฉพาะการขนส่งผ่านท่อ รวมถึงการติดตั้งหน่วยที่เปลี่ยน LNG เป็นก๊าซฯนั้น (Regas Unit) ก็มีการจัดตั้งในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ด้วยขนาดที่ไม่ใหญ่มาก ทำให้อาจต้องมีการปรับปรุงเกณฑ์เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย คาดว่าจะมีความชัดเจนในปีหน้า ขณะที่ก็จะทบทวนเรื่องอัตราค่าผ่านท่อก๊าซฯให้มีความเหมาะสมซึ่งจะมีการทบทวนทุก ๆ 3-5 ปี
ส่วนความคืบหน้าการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนจำนวนประมาณ 78 เมกะวัตต์ (MW) นั้น ขณะนี้มีผู้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าแล้ว 3 ราย แต่ให้กลับไปรายละเอียดเพิ่มเติม 2 ราย และอนุญาตโครงการแล้ว 1 ราย ได้แก่ โครงการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย ขนาดกำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ มีปริมาณขายไฟฟ้า 6 เมกะวัตต์ ขณะที่กกพ.เปิดให้ทยอยยื่นเสนอโครงการจนถึงวันที่ 31 มี.ค.62
สำหรับการพิจารณาคำอุทธรณ์ของบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC ) กรณีที่กกพ.มีมติไม่อนุมัติการเข้าซื้อหุ้นบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด(มหาชน)หรือ GLOW คาดว่าจะประกาศผลการพิจารณาอย่างเป็นทางการวันที่ 13 ธ.ค.นี้.