“พลังงาน” เพิ่มมาตรการช่วยเหลือ “ค่าไฟแพง” ผิดปกติ
กรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นผิดปกติ ช่วงอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ ด้วยการทำงานอยู่บ้าน(Work from home) ลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เผยว่า วันนี้ (20 เม.ย.63) จะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านไฟฟ้าทั้งคณะกรรมได้การกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) รวมถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในช่วงบ่าย เพื่อพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือด้านค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนเพิ่มเติม หลังประชาชนส่วนใหญ่ขานรับนโยบายการทำงานจากบ้าน (Work From Home: WFH) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนส่งผลให้ยอดการใช้ไฟฟ้าในบ้านพักอาศัยเพิ่มขึ้น
โดยจะหารือในส่วนของ ค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) ที่ปัจจุบัน และช่วง 4 เดือนข้างหน้า (พ.ค.-ส.ค.) ยังตรึงไว้ที่ระดับ -11.60 สตางค์/หน่วย ทั้งที่ราคาน้ำมันต้นทุนหลักของการผลิตไฟฟ้ามีราคาลดลงมาก เพราะการคำนวณค่าไฟฟ้าของไทยเป็นการอิงกับคิดต้นทุนเชื้อเพลิง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นก๊าซธรรมชาติ ซึ่งตามสูตรราคาจะมีราคาปรับตัวช้ากว่าราคาตลาดโลกราว 6 เดือนนั้น จะสามารถปรับให้ทันสถานการณ์หรือสะท้อนต้นทุนแท้จริงได้อย่างไร
รวมถึงแนวทางที่นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เรียกร้องให้รัฐบาลหาแนวทางช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ทั้งในส่วนการให้รัฐบาลอุดหนุนค่าไฟฟ้าสำหรับ 1,000 บาทแรก และให้ส่วนลด 50% สำหรับการใช้ส่วนเกิน 1,000 บาทจนถึงไม่เกิน 3,000 บาท เป็นต้นนั้น ก็จะพิจารณาว่าจะสามารทำได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงจะใช้งบประมาณเท่าใด และที่มาของงบประมาณดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ความต้องการใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ต้นปีจนถึงกลางเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 1.55 % ซึ่งสวนทางกับยอดใช้ไฟฟ้าตามที่อยู่อาศัยของประชาชนในช่วงนี้ เนื่องจากภาพรวมปริมาณการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศนอกเหนือจากบ้านอยู่อาศัยแล้ว ยังรวมถึงอุตสาหกรรม ร้านค้า ร้านอาหารต่าง ๆ ด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้ไฟฟ้าตามที่อยู่อาศัย ขณะที่ภาคธุรกิจลดลงจากสถานการณ์ Work From Home และการปิดพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
สำหรับการคิดอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศ เป็นไปตามอัตราก้าวหน้า ตามจำนวนหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากประชาชนใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้หน่วยการใช้เพิ่ม และสะท้อนมายังค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการตรึงค่าเอฟที ซึ่งปกติจะคิดล่วงหน้า 4 เดือน เพื่อไม่ให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และ ลดอัตราค่าไฟฟ้าลง 3% ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท
ด้านนายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการกฟน. ในฐานะโฆษกกฟน. กล่าวว่า รอบบิลค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการ Work From Home ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และส่วนหนึ่งอาจมาจากการใช้เครื่องปรับอากาศที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากที่สุดในบ้าน โดยการตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ระดับเดิม 26 องศาเซลเซียส แต่อากาศที่ร้อนจัดขึ้นเป็นระดับ 40 องศาเซลเซียลในปัจจุบันทำให้กินพลังงานการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเมื่อก่อนที่อากาศร้อนในระดับ 30 องศาเซลเซียส และเมื่อรวมกับการคิดค่าไฟฟ้าในแบบอัตราก้าวหน้า ก็ทำให้ภาพรวมการจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นด้วย.