“บ้านปู” ศึกษา 5 ประเทศ ผลิตไฟแตะ 4,300 MW
บ้านปู วางงบ 200-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม ในและต่างประเทศวางเป้าผลิตไฟฟ้าให้ได้ 4,300 เมกะวัตต์ ปี 2568
นายสุธี สุขเรือน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าให้ได้ 4,300 เมกะวัตต์ ปี 2568 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 2,870 เมกะวัตต์ โดยส่วนที่เหลืออีก 1400 เมกะวัตต์ บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม ในประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น จีน และประเทศไทย เป็นต้นได้วางงบลงทุนไว้ที่ 200-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตั้งเป้าหมายสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอยู่ที่ 20% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2561 คาดว่าจะดีกว่าไตรมาสที่ผ่านมาตามกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยวันที่ 1 ธันวาคม 2551 จะเริ่ม COD โรงไฟฟ้า Nari Aizu ขนาดกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ ส่งผลให้สิ้นปี 2561 บริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่จำหน่ายเข้าสู่ระบบรวมทั้งสิ้น 2140 เมกะวัตต์
ปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนจากโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียนที่ COD แล้วรวมทั้งสิ้น 2129 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ยังโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 740 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะ COD ได้หมดภายในปี 2566 หนุนให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2870 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างพัฒนาดังกล่าวเป็นพลังงานหมุนเวียน ประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ บริษัทคาดว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ประเทศเวียดนาม ขนาดกำลังการผลิต 80 เมกะวัตต์ จะ COD ได้ในช่วงปลายปี 2563 โดยส่วนที่เหลือทยอย COD ได้ครบ 200 เมกะวัตต์ ตามที่บริษัทได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับรัฐบาลเวียดนาม อีกทั้งบริษัทยังศึกษาการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มเพิ่มเติมอีกด้วยโดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามได้ประกาศเพิ่มอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม เป็น 8.5 เซนต์ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง จากเดิมอยู่ที่ 7.8 เซ็นต์ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเป็นผลดีต่อการขายไฟของบริษัท
อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่าในปี 2562 กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จะเติบโตกว่าปี 2561 เนื่องจากจะมีการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มอีก 312 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากโครงการโรงไฟฟ้า SLG 1 ขนาดกำลังการผลิต 198 เมกะวัตต์, โครงการ Luannan 3 ขนาดกำลังการผลิต 52 เมกะวัตต์ และโครงการ โซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิต 62 เมกะวัตต์ ส่งผลให้สิ้นปีหน้าบริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 2,460 เมกะวัตต์
ขณะเดียวกันในปี 2562 จะมีการปิดซ่อมบำรุงโครงการโรงไฟฟ้าหงสา หน่วยที่ 1 ในไตรมาส 1/2562 เป็นระยะเวลา 17 วัน และหน่วยที่ 2 และ 3 จะทำการปิดซ่อมบำรุงในไตรมาส 4/2561 ส่วนโรงไฟฟ้า BLCP จะมีการปิดซ่อมบำรุงทั้ง 2 หน่วย ภายในไตรมาส 4/2562 เป็นระยะเวลา 17 วัน