“ACE” ขายไฟเรท FIT รายได้ไม่กระทบ ลดค่า FT
ACE ยืนยัน ธุรกิจโรงไฟฟ้าไม่กระทบจากไวรัส รายได้ขายไฟมั่นคงเพราะขายให้รัฐ 99% ด้วยเรท FIT จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดค่า FT ย้ำความพร้อมเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าสะอาดกว่า 1,100 เมกะวัตต์
นางสาวจิรฐา ทรงเมตตา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้จำกัด (มหาชน) หรือ ACE เปิดเผยว่า “ACE ขอยืนยันว่า บริษัทฯ ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากวิกฤติโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ทั้งในด้านรายได้และการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากรายได้การจำหน่ายไฟฟ้ากว่า 99% ของบริษัทฯ มาจากการขายไฟฟ้าให้ภาครัฐ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับค่าไฟฟ้าในรูปแบบการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง(ฟีดอินทารีฟ) หรือ (FIT) จึงไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการปรับค่า FT
นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าทั้ง 14 โรงของบริษัทฯ กระจายกันอยู่ในหลายภูมิภาค โดยที่การปฏิบัติงานของพนักงานมีลักษณะเป็น Social Distancingโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้นการระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงแทบไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ทำให้เรามั่นใจว่าปีนี้บริษัทฯ จะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากงวดปี 2562 ที่มีรายได้รวม 4,951 ล้านบาท มี EBITDA 1,854 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.9% จาก EBITDA 1,586 ล้านบาท ในปี 2561 และมีกำไรสุทธิเติบโตเพิ่มขึ้น 49.2% เป็น 815 ล้านบาท จากกำไรสุทธิ 547 ล้านบาท ในปี 2561 ทำให้อัตรากำไรสุทธิของ ACE ในปี 2562 สูงถึง 16.4%”
“สำหรับปี 2563 ในปีนี้ บริษัทฯ คาดว่า ความสามารถในการทำกำไรจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทฯจะรับรู้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ลดลงกว่า 200 ล้านบาทต่อปี หลังจากชำระคืนหุ้นกู้ก่อนกำหนดจำนวน 1,450 ล้านบาทเมื่อปลายปีก่อน ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทฯ สามารถลดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวในอัตรากว่า 1.5% กับสถาบันการเงินชั้นนำ ซึ่งจะมีผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทฯ ในปีนี้และปีต่อไปอย่างมีนัยยะ และทำให้บริษัทฯ มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน (IBD/E) เพียง 0.28 ทำให้บริษัทฯ มีศักยภาพในการลงทุนโรงไฟฟ้าโครงการใหม่ๆ เพื่อขยายกิจการเพิ่มเติมได้อย่างมาก”
นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE กล่าวเสริมว่า “ ในปี 2020 นี้ บริษัทฯ มีแผนงานที่จะขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเตรียมเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนตามนโยบายสำคัญของภาครัฐ 2 โครงการ คือ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะโครงการ Quick Win ซึ่งเป็นเฟสแรกของโครงการที่คาดว่าจะเกิดขึ้นก่อน และสามารถรับรู้รายได้ได้อย่างรวดเร็ว และโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์รวมแล้ว 1,100 เมกะวัตต์
“บริษัทฯ มีความพร้อมทุกด้าน ทั้งประสบการณ์การพัฒนา และ บริหารโรงไฟฟ้ากว่า 212 เมกะวัตต์ ความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า ด้วยวัสดุการเกษตร พืชพลังงานและขยะอินทรีย์ / ขยะชุมชน ความพร้อมทางการเงิน ผู้บริหาร – วิศวกรที่มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญจึงมั่นใจว่าบริษัทฯ มีโอกาสที่จะชนะการประมูล และสร้างการเติบโตให้ธุรกิจอย่างมั่นคง ส่วนโครงการโรงไฟฟ้า SPP Hybrid จำนวน 4 แห่ง กำลังการผลิตติดตั้ง 93 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการขอขยายเวลาการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า คาดว่าจะได้รับการอนุมัติภายในครึ่งปีแรกนี้”
นายธนะชัย กล่าว