“สมคิด” เร่งออกนโยบาย ผลักดัน ไทยฮับรถยนต์ไฟฟ้า
“สมคิด” เร่งหน่วงงาน ผลักดัน ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใน 5 ปี เตรียมออกนโยบายสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและกระตุ้นความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า ภายในปีนี้
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เปิดเผยว่าได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไปพิจารณาสิทธิประโยชน์การลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ไฟฟ้าเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ให้สูงสุด 8 ปี เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใน 5 ปี และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงานและกระทรวงคมนาคม ร่วมกันพิจารณา แนวทางส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วย รถยนต์ จักรยานยนต์ และ รถบัสสาธารณะ เพื่อเชื่อมโยงระบบคมนาคม และลดปัญหาฝุ่น PM2.5
ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า Roadmap การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย เป้าหมายปี 2030 ประเทศไทยมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) 30% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด โดยแผนระยะสั้น (ปี 2020-2022) จะมีการขับเคลื่อน รถราชการ รถบัสสาธารณะ และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะ และรถส่วนบุคคลอื่น ๆ กำหนดเป้าหมายจำนวน 60,000 – 110,000 คัน
ส่วนแผนระยะกลาง (ปี 2021-2025) จะเร่งให้มี ECO EV และ Smart City Bus ประมาณ 250,000 คัน และ แผนระยะยาวในปี 2030 จะมียานยนต์ไฟฟ้า 750,000 คัน ในปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ได้เปิดให้มีการส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมทั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยมีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้รับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว 28 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนกว่า 110,000 ล้านบาท และมีการจำหน่ายรถยนต์แล้วกว่า 5 ราย ประกอบด้วย Toyota, Honda, Fomm, Benz และ BMW
ในส่วนของสถานีอัดประจุไฟฟ้า ภาครัฐและเอกชนได้มีการติดตั้งสถานี AC 736 จุด และ DC 69 จุด สำหรับการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ มีผู้ขอส่งเสริมการลงทุนกว่า 11 ราย และได้รับการส่งเสริมการลงทุน 9 ราย แต่ยังพบว่ามีปัญหาอุปสรรค อาทิ รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาสูงประชาชนไม่สามารถเข้าถึง และจำนวนสถานีประจุไฟฟ้าไม่เพียงพอที่จะรองรับการเดินทางในระยะไกล
ขณะที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกรทะรวงพลังงาน กล่าวว่า ปีนี้รัฐบาลจะออกนโยบายสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและกระตุ้นความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศให้มีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งเรื่องแรงจูงใจจากภาษีนำเข้า และภาษีสรรพสามิต รวมถึงปรับเปลี่ยนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในระบบราชการ 4,000 คัน ภายในปี 2565 และวางเป้าหมายปรับเปลี่ยนวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นความต้องการใช้ภายในประเทศ และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับผู้มีรายได้น้อยด้วย โดยขณะนี้ กฟผ.เตรียมนำร่อง ปรับเปลี่ยนมอเตอร์ไซต์รับจ้างมาใช้รถมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้า ในเขตกทม. ช่วงแรก 500 คัน ใน ก.ค.นี้
และจากข้อมูลการใช้รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างในระยะ 100 กิโลเมตรต่อวัน จะใช้น้ำมันประมาณ 2 ลิตร หรือคิดเป็นค่าน้ำมันประมาณ 55 บาทต่อวัน แต่หากใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจะมีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 10 บาท/วัน ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 45 บาทต่อวัน หรือประมาณ 16,4025 บาทต่อปี