ค่าไฟขึ้นกว่า 4 ส.ต.ปีหน้า
“กกพ.” ประกาศ ปรับขึ้นค่าเอฟที 4.30 สตางค์ต่อหน่วย งวดเดือนมกราคม – เมษายน 2562 เป็นครั้งแรกในรอบ 16 เดือน เหตุค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแพงขึ้น
นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้เรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) สำหรับการเรียกเก็บงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2562 เพิ่มขึ้น 4.30 ส.ต.ต่อหน่วยเป็นครั้งแรกในรอบ16เดือน ส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากงวดที่ผ่านมา 3.5966 บาทต่อหน่วย เป็น 3.6396 บาทต่อหน่วย เป็นผลมาจากปัจจัยราคาเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าถีบตัวสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ได้คาดการณ์ราคาเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้าในงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2562 เทียบกับงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2561 ประกอบด้วย
ราคาก๊าซ ได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 286.83 บาท/ล้านบีทียู มาเป็น 299.50 บาท/ล้านบีทียู เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น +12.67 บาท/ล้านบีทียู
ราคาน้ำมันเตา ได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 15.69 บาท/ลิตร มาเป็น 16.86 บาท/ลิตร เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น +1.17 บาท/ลิตร
ราคาน้ำมันดีเซลได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 19.68 บาท/ลิตร มาเป็น 23.16 บาท/ลิตร เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น +3.48 บาท/ลิตร
ราคาถ่านหินนำเข้า ได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 2,583.04 บาท/ตัน มาเป็น 2,697.40 บาท/ตัน เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น +114.36 บาท/ตัน
การซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.73 บาท/หน่วย มาเป็น 1.81 บาท/หน่วย เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น +0.08 บาท/หน่วย
หากพิจารณาปัจจัยราคาเชื้อเพลิง สำหรับการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด มาคำนวณโดยที่ไม่มีการบริหารจัดการ จะส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) สำหรับการเรียกเก็บงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2562 เพิ่มขึ้นสูงถึง +24 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อเทียบกับค่า Ft ที่เรียกเก็บในปัจจุบัน -15.90 สตางค์ต่อหน่วย
ส่งผลให้เรียกเก็บค่า Ft เพิ่มขึ้นเป็น 8.10 สตางค์ต่อหน่วย และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าไปบริหารจัดการ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน และเอื้อต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมด้วย
ดังนั้น เพื่อสนับสนุนการปรับตัวให้กับภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมในประเทศ รวมทั้งการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน กกพ. ได้ดำเนินการมาตรการทั้งการบริหารจัดการ และมาตรการทางการเงินเข้าไปดูแลการปรับตัวเป็นไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งประกอบด้วย
ประการแรก มาตรการการเสริมประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงที่จำเป็นสำหรับการผลิตไฟฟ้า (Generation Mix) ได้แก่ ประสานงานกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการศึกษา วิเคราะห์ การลดสัดส่วนนำเข้า ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และ ประสานงานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการพิจารณาแหล่งผลิตไฟฟ้าที่มีความเหมาะสมได้แก่ การเพิ่มปริมาณการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และพิจารณาผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำ
ประการที่สอง มาตรการทางการเงินและบัญชี เพื่อการบริหารจัดการค่า Ft โดย กกพ. มีมติให้นำเงินสะสมจากการเรียกเก็บค่า Ft ที่ผ่านๆ มา จำนวน 3,298 ล้านบาท รวมกับเงินบริหาร Ft ซึ่งมีที่มาจากส่วนลดและค่าปรับจากผู้ประกอบการ จำนวน 5,547 ล้านบาท และการเรียกเม็ดเงินลงทุน (Clawback) จากการไฟฟ้าที่ไม่ได้ลงทุนตามแผนอีกจำนวน 1,522 ล้านบาท เพื่อนำมาชดเชยต้นทุนการผลิตไฟฟ้า และลดความผันผวนการปรับเพิ่มค่า Ft ที่ส่งผลกระทบต่อค่าบริการไฟฟ้า ให้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างราบรื่น
พร้อมกันนี้ ได้ทำการปรับประมาณการค่า Ft ให้สอดคล้องกับภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง และพิจารณากำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่อ่อนค่าลงให้สอดคล้องกันกับภาวะการณ์ในปัจจุบัน.