“กัลฟ์” เล็งลงทุน โรงไฟฟ้า สปป.ลาว 2,400 MW
กัลฟ์ เผย โรงไฟฟ้าชีวมวล กัลฟ์ จะนะ กรีน ขนาด 25 MW เริ่ม COD แล้วเมื่อ 1 มี.ค.63 คาดรายได้ปีนี้โต 10% เล็งลงทุนโรงไฟฟ้า LNG เวียดนาม 6000 เมกะวัตต์และ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่ สปป.ลาว 2,400 เมกะวัตต์
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF แจ้งว่า บริษัท กัลฟ์ จะนะ กรีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% และเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล กัลฟ์ จะนะ กรีน (GCG) ได้ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้า GCG เป็นโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งแรกของบริษัท ซึ่งใช้เศษไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิง ตั้งอยู่ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งจำนวน 25 เมกะวัตต์ (MW) โดยโครงการ GCG มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. เป็นระยะเวลา 25 ปี และได้รับส่วนเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้า (Adder) พิเศษอีก 1.3 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 7 ปี ทั้งนี้ การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการ GCG เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
ส่วนรายได้ในปี 2563 นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF คาดว่าจะเติบโตประมาณ 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ 33 ,000 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการรับรู้โรงไฟฟ้าไบโอแมส กำลังผลิต 25 เมกะวัตต์ ที่ COD ในช่วงเดือนมี.ค. และโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เวียดนามจะ COD เข้าระบบอีก 30 เมกะวัตต์ในช่วงปลายปีนี้ รวมถึงยังรับรู้รายได้เต็มปีของโรงไฟฟ้าประเภท SPP ทั้งหมด 12 แห่งที่เปิดดำเนินการครบแล้ว 1,563 เมกะวัตต์ ตลอดจนรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าโซลาร์ที่เวียดนาม 120 เมกะวัตต์ ที่ COD ไปแล้วด้วย
นอกจากนั้นบริษัทยังคงอยู่ระหว่างหาโครงการลงทุนใหม่ ๆ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซฯประเภท LNG ที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งโครงการดังกล่าวมีกำลังการผลิตสูงสุด จำนวน 6,000 เมกะวัตต์ รวมถึงโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บ LNG ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการพิจารณาที่ทางรัฐบาลเวียดนามจะบรรจุโครงการดังกล่าวให้อยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ของเวียดนาม คาดว่าจะมีการพิจารณาในช่วงไตรมาส 3/63
รวมถึงอยู่ระหว่างศึกษาก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่ สปป.ลาวร่วมกับพันธมิตรจีน กำลังการผลิตสูงสุด 2,400 เมกะวัตต์ โดยบริษัทมีแผนที่จะเข้าถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 30% โดยโครงการนี้คาดว่าจะทำสัญญาและขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีกทั้งกำลังเจรจากับรัฐบาลโอมานเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน เช่น โซลาร์ฟาร์ม และพลังงานลม ขนาดกำลังการผลิต 2,000 เมกะวัตต์ นอกเหนือจากปัจจุบันที่มีโรงไฟฟ้าก๊าซฯอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อขายไฟให้กับโรงกลั่นน้ำมัน
อย่างไรก็ดีกลางปีนี้บริษัทเตรียมออกและเสนอขายหุ้นกู้วเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่น โรงไฟฟ้าประเภท IPP จำนวน 2 แห่ง ขนาดกำลังการผลิต 5,000 เมกะวัตต์ และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 ,โครงการมอเตอร์เวย์ รวมถึงโรงไฟฟ้าที่โอมาน และเวียดนาม โดยในปี 2563 บริษัทจะใช้เงินลงทุน 36,000 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินลงทุนในส่วนทุนจากบริษัท 10,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการกู้เงิน