“ไทยออยล์” เผยเหตุราคาน้ำมันดิบลดลง
ราคาน้ำมันดิบโลกปรับลด หลังรัสเซียส่งสัญญาณไม่ปรับลดกำลังการผลิต “ไทยออยล์” คาด ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 65 – 70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์อยูที่ 74 – 79 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
เมื่อวันที่ 30 ต.ค.61 บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมัน โดยระบุว่า ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงหลังรัสเซียส่งสัญญาณไม่ปรับลดกำลังการผลิต โดยนาย Alexander Novak รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน
ของรัสเซีย กล่าวว่ารัสเซียไม่จำเป็นที่จะปรับลดหรือคงกำลังการผลิตน้ำมันดิบ เนื่องจากสถานการณ์น้ำมันดิบในปัจจุบันไม่ได้ล้นตลาดอีกต่อไป ขณะที่อิหร่านเตรียมตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ โดยเริ่มทำการซื้อขายน้ำมันดิบด้วยค่าเงินอิหร่านให้บริษัทเอกชนเป็นครั้งแรก
นอกจากนี้อินเดีย จีน และตุรกี ซึ่งเป็นลูกค้าน้ำมันรายใหญ่ของอิหร่าน ต่างก็ปฏิเสธข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ในการยุติการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านโดยระบุว่าปริมาณน้ำมันในตลาดโลกมีไม่เพียงพอที่จะชดเชยน้ำมันจากอิหร่าน ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นและความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้าลงจากผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน
อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงหนุน หลังกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบโอเปกคาดว่าจะทำการปรับลดกำลังการผลิต เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น
ด้านราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากความกังวลต่อภาวะอุปทานล้นตลาด หลังจีนประกาศโควต้าการส่งออกน้ำมันเบนซินเพิ่มเติมของปี 2561
ขณะที่ ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่มากขึ้น หลังจีนประกาศโควตาการส่งออกน้ำมันดีเซลเพิ่มเติมราว 590,000ตัน
ไทยออยล์ยังได้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ ว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 65 – 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 74 – 79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สำหรับปัจจัยที่น่าจับตามอง
รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานซาอุดิอาระเบียประกาศว่า ซาอุดิอาระเบียจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากกำลังการผลิตเดิมที่ระดับ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อชดเชยอุปทานที่หายไปจากประเทศอิหร่านและเวเนซูเอลล่า และพร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตอีก 1-2 ล้านบาร์เรล หากอุปทานไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ของโลก
การเติบโตของความต้องการน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังได้รับแรงกดดันจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงปัญหาทางเศรษฐกิจในแถบยูโรโซนและตลาดเกิดใหม่
ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากประเทศอิหร่านคาดจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังประเทศต่างๆ ปรับลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านก่อนวันกำหนดการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ในวันที่ 4 พ.ย. 61.