คอมเพล็กซ์ก๊าซพร้อมรับมือลงทุนEEC
บีไอจี เผยคอมเพล็กซ์ก๊าซอุตสาหกรรมครบวงจร ในจ.ชลบุรี พร้อมต่อยอดโอกาสลงทุนรองรับ EEC
นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (บีไอจี) เปิดเผยว่า บริษัทมีความพร้อมทั้งทางด้านเทคโนโลยีการผลิตและบริการที่ครบวงจร สำหรับต่อยอดโอกาสในการลงทุน รองรับการเติบโตของภาคการผลิตและสถานประกอบการในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0
ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตก๊าซอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 1.5 ล้านตัน/ปี มีโรงแยกอากาศตั้งอยู่ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน 2 จังหวัด คือ จังหวัดชลบุรี และระยอง โดยเฉพาะโรงแยกอากาศแห่งที่ 3 (Integrated Industrial Gas Complex) ที่เปิดดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 41 นับเป็นคอมเพล็กซ์ก๊าซอุตสาหกรรม ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี จังหวัดชลบุรี มีขนาดกำลังการผลิตก๊าซอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศด้วยกำลังการผลิตกว่า 1,400 ตัน/วัน หรือ 530,000 ตัน/ปี
โดยแบ่งเป็น การผลิตไนโตรเจนเพื่อป้อนอุตสาหกรรมเหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 200,000 ตัน/ปี การผลิตออกซิเจน เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเหล็ก กระจก การแพทย์ รวมถึงการนำไปใช้ในระบบบำบัดน้ำเสีย จำนวน 300,000 ตัน/ปี และการผลิตอาร์กอน สำหรับการเชื่อมโลหะเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ก่อสร้าง อิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 11,000 ตัน/ปี
สำหรับกระบวนการผลิตดังกล่าว เป็นนวัตกรรมการนำอากาศมาแยกเป็นก๊าซต่าง ๆ ผ่านการลดอุณหภูมิในหอกลั่นจนได้ผลิตภัณฑ์ทั้งในรูปของก๊าซและของเหลว สำหรับส่งให้กับลูกค้าทางท่อภายในนิคมและทางรถบรรทุกก๊าซจัดส่งทั่วประเทศ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ภายใต้แคมเปญ Infinite Innovation เพื่อรองรับการบริหารจัดการการใช้งานก๊าซอุตสาหกรรมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงและทราบข้อมูลแบบ Real-Time ด้านการใช้งาน ปริมาณสินค้าคงคลัง และสถานะการจัดส่งก๊าซได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวก และตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้าที่ใช้ก๊าซอุตสาหกรรม สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจยุคดิจิทัลในปัจจุบันได้อย่างแท้จริง
” ก๊าซอุตสาหกรรม ถือเป็นหัวใจหลักต่อภาคอุตสาหกรรมที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน และยังมีแนวโน้มการเติบโตตามการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้ก๊าซอุตสาหกรรมในการผลิตเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สามารถเพิ่มมูลค่า เป็นไปตามแนวทางของรัฐบาลที่มุ่งยกระดับสินค้าไทย ทั้งในด้านการสร้างความแตกต่างและการสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “ นายปิยบุตร กล่าว