ประมูลแหล่งก๊าซ ชาติได้ประโยชน์เพียบ

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แจง ประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกช ประเทศได้รับผลประโยชน์หลายด้าน มีส่วนแบ่งกำไร 800,000 ล้านบาท ลดการนำเข้าก๊าซแอลพีจี มูลค่า 4.6 แสนล้านบาท และยังเกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีกประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท
หลังจากกลุ่มสภาพลังงานเพื่อประชาชน ได้พยายามคัดค้านการเปิดประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ โดยขอให้รัฐบาลชะลอการจัดสรรปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่งปิโตรเลียมออกไปก่อน และให้ตั้งกรรมการร่วม 3 ฝ่าย คือ ภาครัฐบาล ประชาชน และคนกลาง เพื่อแก้ไขทีโออาร์ให้เป็นระบบจ้างบริการ (เอสซี)ที่รัฐต้องได้ส่วนแบ่งมากกว่าเอกชน ตลอดจนปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานที่เป็นธรรมให้เสร็จภายใน 3 เดือน
ล่าสุดวันนี้ (10 ต.ค.61) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้อธิบายผลประโยชน์ที่ประเทศได้รับ จากการประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกช ผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า การเปิดประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ – บงกช ในครั้งนี้ นอกจากจะสามารถดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีผลประโยชน์เพิ่มเติมที่ประเทศจะได้รับ โดยคาดว่า การพัฒนาทั้ง 2 แหล่งนี้ จะได้ผลประโยชน์ในรูปค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งกำไรประมาณ 800,000 ล้านบาท รวมถึงประโยชน์ในรูปของการจ้างงานพนักงานคนไทย ในสัดส่วน 80% ในปีแรก และอย่างน้อย 90% ในปีที่ 5 ตามเงื่อนไขหลักสำคัญที่ระบุไว้ใน TOR
นอกจากนั้นแล้ว ยังลดการนำเข้าก๊าซแอลพีจีได้ประมาณ 22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.6 แสนล้านบาท รวมทั้งเกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีกประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท.