สภาพลังงานฯเดินสายร้องสอบประมูลก๊าซ
สภาพลังงานเพื่อประชาชน เดินสายยื่นหนังสือ ผู้ตรวจสอบปมเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมแหล่งอ่าวไทย และเรียกร้อง สนช.เป็นคนกลางจัดดีเบตระหว่าง หาข้อยุติปัญหาที่เกิดขึ้น
วันนี้ (5 ต.ค.61) เมื่อเวลา 11.00 น. นายวรกร พงศ์ธนากุล ประธานสมาพันธ์ทนายความแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย พญ.กมลพรรณ ชีวะพันธุ์ศรี แกนนำเครือข่ายประชาชนปฎิรูปพลังงานไทยและคณะ ได้เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายวัทญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คณะกรรมการปิโตรเลียม ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน คณะรัฐมนตรี กรณีการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมอ่าวไทย (แหล่งเอราวัณ และบงกช)
โดยนายวรกร กล่าวว่า ต้องมายื่นเรื่องนี้ เพราะว่าทั้งสองแหล่งกำลังจะหมดสัมปทานขุดเจาะในปี 2565 และรัฐได้มีการเปิดให้ยื่นซองขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งมีเพียงเอกชน 2 รายเดิมที่เป็นเจ้าของสัมปทานขุดเจาะเข้ายื่นซอง โดยรัฐจะมีการตัดสินในเดือนธันวาคมว่าจะให้เป็นผู้ได้รับสิทธิหรือไม่ ทางภาคประชาชนจึงเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ขั้นตอนของการออกหลักเกณฑ์ที่เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน 2 ราย แม้จะกำหนดให้เป็นระบบแบ่งปันผลผลิต แต่ก็กำหนดให้เอกชนได้ร้อยละ 70 และรัฐได้ร้อยละ 30 ซึ่งไม่ต่างจะระบบสัมปทานเดิม
ขณะเดียวกันยังรวมหลุมย่อย 7 หลุมขุดมาเป็น 2 หลุมขุดใหญ่และวงเงินทุนจดทะเบียนบริษัทที่มีสิทธิเข้ายื่นซองประมูลว่าต้องมีไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้รายย่อยไม่สามารถเข้าแข่งขันได้ จึงต้องการให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งพิจารณาวินิจฉัยเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระงับการตัดสินและยื่นประกวดซองราคาในเดือนธันวาคมออกไป
จากนั้นเมื่อเวลา 13.00 น. ตัวแทนสภาพลังงานเพื่อประชาชนนำโดย พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี, นายนพพร วิสุทธิศักดิ์ชัย และคณะ เข้ายื่นหนังสือข้อเรียกร้องดังกล่าวต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อขอให้พิจาณาเป็นคนกลางในการจัดดีเบตระหว่างสภาพลังงานกับกระทรวงพลังงาน โดยขอใช้ ตั้งแต่ 09.00 น.ถึง 16.00 น. ให้ทั้งสองฝ่ายมีจำนวนตัวแทนประมาณ 3 คนเท่ากัน ใช้เวลาเท่ากันผลัดกันในการนำเสนอข้อมูล และขอให้มีการประสานงานในการถ่ายทอดสดทางวิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับทราบข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย และขอให้มีคนกลางเพื่อเข้ารับฟังข้อมูลในการดีเบตครั้งนี้ จากตัวแทนจากกรรมาธิการพลังงานของ สนช.ตัวแทนสื่อมวลชน และคนกลางที่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย
ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพลังงานเพื่อประชาชนได้พยายามคัดค้านการเปิดประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ ของกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีเอกชนเพียง 2 รายเท่านั้นที่ได้ยื่นซองประมูล ซึ่งน่าจะเห็นได้ชัดเจนแล้วว่าจะไม่เกิดการแข่งขันกันจริง และประเด็นสำคัญที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจใหม่มี 2 ประเด็นคือ ทีโออาร์ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อชาติหรือไม่ แหล่งบงกชเอราวัณมีมูลค่าผลผลิตปีละ 2 แสนล้านบาท ที่ผ่านมาภายใต้ระบบสัมปทานรัฐได้รายได้เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ซึ่งจะแตกต่างกับระบบจ้างผลิตมาก ที่รายได้ของประเทศอาจจะแตกต่างกันถึง 1 แสนล้านบาทต่อปี.