“กฟผ.” ตั้งโรงกำจัดซาก“โซลาร์-แบตเตอรี่”
กฟผ.-กรอ. ลงนาม ศึกษาการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทย คาดใช้เวลาศึกษา 2 ปี ต่อยอดจัดตั้งโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ต้นแบบของไทย
นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) บอกว่า รัฐบาลมีแผนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ให้ได้ 15,574 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 2580 และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศให้ได้ 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 ซึ่งจะทำให้เกิดซากเซลล์แสงอาทิตย์และอุปกรณ์ประกอบ และซากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าจำนวนมาก
และเมื่อวันที่ 29 ก.ค.2558 นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการ โดยได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการจัดการขยะที่เกิดจากเซลล์แสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้า โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอเป็นกิจกรรมในแผนยุทธศาสตร์การจัดการของเสียของกระทรวงอุตสาหกรรม
ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีเทคโนโลยีและการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่อย่างเป็นระบบและครบวงจร ซึ่งอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ โดยเฉลี่ยประมาณ 20 ปี คาดว่าในปี 2565 จะมีซากจากแผงโซลาร์เซลล์เกิดขึ้น 112 ตัน และจะเพิ่มเป็น 1.55 ล้านตันในปี 2600 ซึ่งหากไม่มีการวางแผนที่เหมาะสม นอกจากจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศแล้ว ยังจะเป็นปัญหาอุปสรรคต่อแผนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์และการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ตามนโยบายรัฐบาล
ในส่วนของกรมโรงงานฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความมุ่งมั่นในการยกระดับอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงเกิดเป็นความร่วมมือในครั้งนี้กับ กฟผ. เพื่อให้มั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะสามารถบริหารจัดการซากทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“กรมฯ จะให้ข้อมูลกับทาง กฟผ.เกี่ยวกับปริมาณแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงระบบกักเก็บพลังงาน ที่จะกลายเป็นขยะในอนาคต เพื่อให้ กฟผ.ได้ทำการศึกษาความเหมาะสมจัดตั้งโรงงานต้นแบบกำจัด หรือรีไซเคิลขยะดังกล่าว ซึ่งการศึกษาจะต้องประกอบไปด้วยการประเมินตัวเลขปริมาณขยะ, โรงกำจัด,โรงรีไซเคิล, ขนาดโรงงาน งบประมาณและความคุ้มทุน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาภายใน 2 ปี นับจากวันนี้ ส่วนผู้ลงทุนสร้างโรงงานกำจัดแผงโซลาร์และแบตเตอรี่ ทาง กฟผ.จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมต่อไป” นายประกอบ กล่าว
ด้านนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ของ กฟผ. กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยี ข้อเสนอแนะ และแนวทางการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทย เพื่อนำมาประกอบการศึกษาความความเหมาะสมใน การพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศ โดยกรมโรงงานฯจะให้การสนับสนุนด้านข้อมูล ได้แก่ ข้อมูลแนวโน้มซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทย ,ข้อมูลจากการพิจารณาแนวทางการเก็บรวบรวมซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่จากภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลจากการศึกษาทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมต่อการพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย
ส่วนของ กฟผ. จะรับผิดชอบในการดำเนินงาน ได้แก่ ศึกษาเทคโนโลยีการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เหมาะสมสำหรับประยุกต์ใช้กับโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย ,ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย ควบคู่กับการพิจารณาตามแนวทางการเก็บรวบรวมซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่จากภาคอุตสาหกรรมตามข้อมูลของกรมโรงงานฯ และศึกษาเทคโนโลยีและแนวทางการบริหารจัดการซากแบตเตอรี่ ที่อาจสามารถนำมาบูรณการกับโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของไทย
ณ เดือน ก.ย.2562 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และขายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) แล้ว 2,882 เมกะวัตต์ และยังไม่นับรวมแผงโซลาร์เซลล์จากผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองแบบไม่ขายเข้าระบบ นอกจากนี้พบว่าช่วงปลายของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศระยะยาว พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) จะมีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์รวมเป็น 6,000 เมกะวัตต์ ในปี 2580 ดังนั้นในอนาคตจะมีขยะจากแผงโซลาร์เซลล์อีกจำนวนมากที่ต้องจำกัด
ขณะที่ขยะที่เป็นพวกแบตเตอรี่ตะกั่วและแบตเตอรี่จากรถยนต์ไฮบริด ตั้งแต่ปี 2558-2563 มีจำนวน 1,300 ตัน ได้ใช้วิธีกำจัดโดยการส่งออกไปยังโรงงานรีไซเคิลในประเทศเบลเยียม สิงคโปร์และญี่ปุ่น ส่วนแผงโซลาร์เซลล์นั้น ยังไม่มีประเทศใดตั้งโรงงานกำจัดขึ้นเป็นการเฉพาะ เพราะปัจจุบันที่ใช้อยู่ยังไม่สิ้นสุดอายุการใช้งาน.