พพ.ปลื้มผลงานอาคารBEC
พพ.โชว์ความสำเร็จอาคารอนุรักษ์พลังงาน ปี 61 ตามมาตรฐาน BEC หน่วยงานรัฐ – เอกชน ตื่นตัวออกแบบอาคาร เน้นประหยัดพลังงาน ทั้งการติดตั้งอุปกรณ์ เลือกใช้วัสดุกันความร้อน เผย กกพ.- พฤกษา ฯ ต้นแบบอาคารประหยัดพลังงานได้มากกว่า 50%
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ พพ.ได้จัดมอบฉลากรับรองอาคาร (BEC Awards) ประจำปี 2561 ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มีอาคารที่ได้รับฉลากทั้งสิ้น 18 อาคาร ซึ่งแต่ละอาคารมีการออกแบบเพื่อการอนุรักษ์พลังงานให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้นำองค์ความรู้พัฒนาที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ของคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันที่เน้นเรื่องการประหยัดพลังงาน ในขณะที่อาคารของหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งเป็นอาคารต้นแบบ พร้อมที่ยกระดับเป็นอาคารประหยัดพลังงานสากล
ด้านนายสุภัทร์ รัตนะโสภณชัย ผู้อำนวยการอาวุโสศูนย์นวัตกรรม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงานมาโดยตลอด โดยในปี 2561 โครงการแชปเตอร์วัน อีโค รัชดา-ห้วยขวาง ของบริษัทฯ ได้รับรางวัลฉลากรับรองอาคาร BEC Awards ระดับดีมาก จาก พพ โดยลักษณะโครงการเป็นอาคารชุด พื้นที่ 10,796 ตามรางเมตร 26 ชั้น มีการออกแบบอาคารที่สามารถประหยัดพลังงานได้ถึง 53% เมื่อเทียบกับอาคารชุดทั่วไป เนื่องจากเน้นการออกแบบและอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เช่น การใช้หลังคาคอนกรีตพร้อมฉนวนกันความร้อน ใช้แผนอลูมิเนียมฟอยล์และติดแผ่นยิปชั่มบอร์ด เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน ยังเตรียมเปิดตัวโครงการทาวเฮ้าท์ที่ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) สำหรับผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ภายในอาคารเป็นครั้งแรก บริเวณถนนเอกชัยช่วงเดือน พ.ย. 2561 นี้สอดคล้องกับทิศทางของการส่งเสริมให้กับผู้ประกอบการพัฒนาพลังงานทดแทน และเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคมาผลิตพลังงานเพื่อใช้ในครัวเรือน
ด้านนางฤดี ภริงคาร ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า การที่ อาคารสำนักงาน กกพ.ได้รับรางวัล BEC ระดับดีมากในครั้งนี้ ถือเป็นเครื่องการันตีของหน่วยงานภาครัฐ ที่กำกับดูแลด้านพลังงาน สามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่า 50% และให้ความสำคัญในการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่เป็นไปตามมาตรฐานด้านการอนุรักษ์พลังงานของนโยบายกระทรวงพลังงาน
นอกจากนั้น กกพ.ยังได้มีแผนการยกระดับการประหยัดพลังงานให้มีมาตรฐานสูงสุดเทียบกับมาตรฐานสากล โดยวางเป้าหมายในการส่งแบบอาคารสำนักงานขอขึ้นทะเบียนเพื่อรับมาตรฐานของ LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) และมาตรฐานอาคารสีเขียวของสภาอาคารเขียวแห่งสหรัฐอเมริกาในอนาคต ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่ในการออกแบบอาคารเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกให้การยอมรับ และนำไปใช้เป็นเกณฑ์สากลในการออกแบบอาคาร