2 ยักษ์ปิโตรเลียม ชิง บงกช-เอราวัณ
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เผย มีผู้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปโตรเลียม แหล่งเอราวัณ-บงกช 4 ราย ประกอบด้วย เครือบริษัทปตท.สผ., เอ็มพี จี2, เชฟรอน, มิตซุยออยล์ พร้อมระบุ ผู้ชนะการประมูลต้องมีหน่วยงานรัฐร่วมลงทุน 25%
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวถึงการเปิดประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปโตรเลียม แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G1/61(เอราวัณ) และ G2/61 (บงกช) ในวันนี้ (25 ก.ย.61)ว่า ได้มีผู้ประกอบการมายื่นคำขอประมูลในฐานะผู้ดำเนินงาน แปลง G1/61 (เอราวัณ) จำนวน 2 ราย ได้แก่ 1.บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited (บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) ร่วมกับ บริษัท MP G2 (Thailand) Limited (บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด) โดยมีสัดส่วนร่วมทุน 60: 40 2.บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. ร่วมกับ บริษัท Mitsui Oil Exploration Company Ltd. (บริษัท มิตซุยออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด) โดยมีสัดส่วนร่วมทุน 74 : 26
ส่วนแปลง G2/61 (บงกช) มีจำนวน 2 ราย ได้แก่ 1. บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited (บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) 2. บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. (บริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้ง จำกัด) ร่วมกับ บริษัท Mitsui Oil Exploration Company Ltd. (บริษัท มิตซุยออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่นคัมปานี ลิมิเต็ด)
ทั้งนี้ผู้ยื่นคำขอประมูลได้นำเอกสารมายื่นครบทุกราย จำนวน 4 ซอง ประกอบด้วย ซองที่ 1 เอกสารด้านคุณสมบัติของผู้ประกอบการปิโตรเลียมตามกฎหมาย ซองที่ 2 เอกสารข้อเสนอด้านหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุน ซองที่ 3 เอกสารข้อเสนอด้านเทคนิค ซึ่งประกอบด้วยแผนงานช่วงเตรียมการ แผนงานการสำรวจ และ แผนการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม ซองที่ 4 เอกสารข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ และสัดส่วนการจ้างพนักงานไทย
หลังจากยื่นซองแล้วจะใช้เวลาเพื่อพิจารณาหาผู้ชนะการประมูล และคาดว่าจะสามารถนำเสนอชื่อผู้ชนะการประมูลไปยังคณะรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม 2561
นายวีระศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในวันที่ 26 ก.ย.2561 คณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอ โดยเริ่มพิจารณาเอกสารซอง 1- 3 เป็นอันดับแรก หากผู้ประกอบการรายใดไม่ผ่านคุณสมบัติ 3 ซองแรก ทางคณะอนุกรรมชุดดังกล่าวก็จะไม่เปิดซองที่ 4 ส่วนคะแนนการพิจารณาผู้ชนะการประมูลคณะกรรมการจะให้น้ำหนัก ราคาก๊าซ 65 % กำไร 25 % โบนัส 5 % และการจ้างงาน 5% และมีเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุน 25% โดยสิทธิในการสำรวจและผลิตปโตรเลียมมีระยะเวลา 20 ปี โดยใน10 ปีแรก แหล่งเอราวัณจะต้องผลิตก๊าซไม่ต่ำกว่า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนแหล่งบงกชผลิตไม่ตำหว่า 700ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน.