พพ.ระบุนำยางผลิตไฟต้องศึกษาจุดคุ้มทุน
พพ. เผย ไม้ยางพาราถูกระบุอยู่ในแผนเออีดีพี สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เว้นแต่แผ่นยางพาราต้องศึกษาจุดคุ้มทุน ส่วน โซลาร์ลอยน้ำ เขื่อนคิรีธาร เขื่อนแม่มาว เป็นไปตามแผนเริ่มดำเนินการได้ในปี 2562
จากกรณีนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่าจะหารือกับกระทรวงพลังงาน เพื่อนำยางพาราที่ค้างในสต๊อกรัฐ 100,000 ตัน จากโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง มูลค่า 22,000 ล้านบาท ไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เพื่อไม่ให้สต๊อกยางที่มีอยู่กระทบกับราคายางในประเทศ นั้น
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมฯ ยังไม่เคยศึกษาการนำแผ่นยางพารามาเผาเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้า ซึ่งต้องดูว่าคุ้มหรือไม่ แต่ตามหลักการแล้วสิ่งใดที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ผสมอยู่สามารถเป็นเชื้อเพลิงได้ อย่างไรก็ตามไม้ยางพาราถือว่าเป็นเชื้อเพลิงสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้และยังระบุในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกหรือเออีดีพีอยู่แล้ว
ส่วนความคืบหน้าการศึกษาระบบโซลาร์ลอยน้ำเพื่อติดตั้งให้กับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 5-7 แห่ง อาทิ เขื่อนคิรีธาร เขื่อนแม่มาว ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ พพ. นั้น กรมฯได้เข้าไปศึกษาพื้นที่ที่เหมาะสมที่อ่างเก็บน้ำกว่า 10 แห่งแล้ว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2562
“ หลังจากได้ศึกษาเสร็จสิ้น จากนั้นก็จะทำแบบก่อสร้าง และเปิดประมูล โดยไฟฟ้าที่ได้จะนำไปขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ในราคาเดิมที่ได้ตกลงกันไว้ที่ 1.9 บาทต่อหน่วย ”
ส่วนการปรับปรุงแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานทางเลือก (เออีดีพี) ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ คาดว่า จะได้ข้อสรุปภายในเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งแผนเออีดีพีใหม่นี้จะมีการจัดทำเป็นรายภูมิภาคสอดรับกับแผนพีดีพีที่กำหนด 6 ภูมิภาค รวมกับพื้นที่กรุงเทพฯ โดยในเบื้องต้นการส่งเสริมพลังงานทดแทนในรูปของการผลิตไฟฟ้าจะมีสัดส่วนภาพรวมที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) ที่จะกระจายไปในภูมิภาคได้มากขึ้น โรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะเพิ่มสัดส่วนได้มากกว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้กว่า 5,500 เมกะวัตต์ แต่คงต้องดูศักยภาพเชื้อเพลิงแต่ละภูมิภาค.