กุลิศ ชี้แจง มติ ยกเลิกนำเข้า LNG 1.5 ล้านตัน
ปลัดพลังงาน ชี้แจง มติ กพช.ยกเลิกการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 1.5 ล้านตันต่อปี แก่พนักงาน กฟผ. พร้อมสั่ง กฟผ. เร่งจัดทำรายงานการนำเข้า LNG ล็อตแรก และจัดทำแผนการใช้ LNG ในปี 2563 – 2565
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติยกเลิกการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตามสัญญาระยะยาว ของ กฟผ. ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและสร้างความกังวลใจแก่พนักงาน กฟผ. โดยเมื่อวานนี้ (18 ธ.ค.) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการ กฟผ. ได้มาประชุมร่วมกับนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และสหภาพแรงงาน กฟผ. เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับมติ กพช. ดังกล่าว
ทั้งนี้ นายกุลิศ ได้ทำความเข้าใจและให้ข้อมูลเกี่ยวกับ มติ กพช. ที่ได้ให้ กฟผ. ยกเลิกการนำเข้า LNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี เนื่องจากความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น และปริมาณก๊าซฯที่ผลิตได้จากอ่าวไทยไม่ได้ลดลงอย่างที่เคยคาดการณ์ไว้ จึงต้องมีการพิจารณาทบทวนปริมาณการนำเข้า LNG อีกครั้ง ซึ่งมติ กพช. ดังกล่าวยังไม่เป็นทางการ เนื่องจาก กพช. ต้องเสนอผ่านการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการก่อน
เบื้องต้น กพช. ได้มีมติเห็นชอบให้ กฟผ. เตรียมความพร้อมทำหน้าที่เป็นผู้นำเข้า LNG รายใหม่ ในรูปแบบการซื้อเป็นรายครั้ง (Spot) ไม่เกิน 200,000 ตัน เพื่อทดสอบระบบการแข่งขันเสรีในกิจการก๊าซธรรมชาติ โดยแบ่งการนำเข้าเป็น 2 ลำเรือ ลำเรือละ 65,000 ตัน ซึ่งลำแรกจะมาถึงในวันที่ 28 ธันวาคม 2562 ส่วนลำที่ 2 จะนำเข้าประมาณเดือนเมษายน 2563 โดยปลัดกระทรวงพลังงาน ยืนยันพร้อมส่งเสริมและผลักดันให้ กฟผ. เป็นผู้นำเข้า LNG รายที่สองของประเทศในระยะยาว
พร้อมทั้งได้สั่งการให้ กฟผ. เร่งจัดทำรายงานผลสำเร็จการนำเข้า LNG ล็อตแรก และจัดทำแผนการใช้ LNG ในปี 2563 – 2565 สำหรับโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพของ กฟผ. ได้แก่ โรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5 จังหวัดฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทน ชุดที่ 1 จังหวัดสมุทรปราการ เสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ภายในเดือนมกราคม 2563 และ กพช. ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งหาก กฟผ. สามารถนำเข้า LNG ได้ตามแผนจะสามารถทำให้ราคาค่าไฟฟ้าของประเทศถูกลง เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำลง และยังเป็นการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการค้า LNG (LNG HUB) ต่อไป