ปตท.สผ.ทุ่มงบลงทุนปี 63 กว่า 1.4 แสนล้าน
ปตท.สผ. เผย งบลงทุนปี 2563 วงเงิน 4,613 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 143,012 ล้านบาท ตั้งเป้าปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่ม 11%
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ. ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ไว้ที่ 4,613 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) (เทียบเท่า 143,012 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure หรือ CAPEX) จำนวน 2,647 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 82,064 ล้านบาท) และรายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure หรือ OPEX) จำนวน 1,966 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 60,948 ล้านบาท) สำหรับแผนการลงทุน 5 ปี (ปี 2563-2567) นั้น บริษัทได้จัดสรรงบประมาณรวม 24,619 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 716,216 ล้านบาท) โดยมีรายละเอียดดังนี้
จากแผนงานดังกล่าว ส่งผลให้ ปตท.สผ. ตั้งเป้าปริมาณการขายปิโตรเลียมจากโครงการผลิตปัจจุบัน โดยมีอัตราการเติบโตของปริมาณการขายโดยเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (Compounding Annual Growth Rate: CAGR) ในช่วง 5 ปี ระหว่างปี 2563-2567 ประมาณร้อยละ 6 โดยปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 388,000 / 403,000 /450,000/ 464,000 /467,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
“จากงบประมาณดังกล่าว ปตท.สผ. คาดว่าในปี 2563 จะสามารถเพิ่มปริมาณการขายปิโตรเลียมได้ประมาณ 11% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีนี้ ส่วนปริมาณการขายเฉลี่ยในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ ถือเป็นความสำเร็จจากการดำเนินการตามกลยุทธ์ Expand ทั้งการชนะการประมูล และการเข้าซื้อกิจการในพื้นที่ยุทธศาสตร์การลงทุนในประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย และในตะวันออกกลาง โดยในปี 2563 จะมุ่งเน้นการดำเนินการตามกลยุทธ์ Execute โครงการหลักต่าง ๆ เพื่อรักษาปริมาณการผลิต และเร่งการพัฒนาโครงการที่สำคัญให้สามารถเริ่มการผลิตได้ตามแผนเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิต รวมทั้งเร่งกิจกรรมการสำรวจเพื่อค้นหาปิโตรเลียมเพิ่มเติม เพื่อสร้างการเติบโตระยะยาว” นายพงศธร กล่าว
สำหรับแผนงานหลักที่จะดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ในปี 2563 มีดังนี้ 1. รักษาปริมาณการผลิตจากโครงการผลิตหลักที่สำคัญ ได้แก่ โครงการเอส 1 โครงการบงกช โครงการอาทิตย์ โครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และโครงการซอติก้า รวมถึงรักษาปริมาณการผลิตในโครงการใหม่ที่ได้จากการเข้าซื้อกิจการและการชนะประมูล ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ได้แก่ โครงการมาเลเซีย โครงการภายใต้บริษัท พาร์เท็กซ์ โฮลดิ้ง บี.วี. โครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และโครงการ G2/61 (แหล่งบงกช)
2. เพิ่มปริมาณการผลิตในอนาคต มุ่งเน้น 3 โครงการหลักที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ได้แก่ โครงการมาเลเซีย แปลงเอช โครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ให้สามารถเริ่มการผลิตได้ตามแผน รวมถึงการเร่งพัฒนาโครงการมาเลเซีย – ซาราวัก เอสเค 410บี ซึ่งประสบความสำเร็จในการเจาะสำรวจในปีที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถเข้าสู่ขั้นตอนการตัดสินใจการลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision)
3. เร่งกิจกรรมสำรวจเพื่อค้นหาทรัพยากรเพื่อรองรับการเติบโตในระยะยาว โดยการเจาะหลุมสำรวจและประเมินผลสำหรับโครงการในประเทศมาเลเซียและเมียนมา
นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม โดยบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ได้วิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์จนสามารถให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งในและนอกอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เช่น โดรนเพื่อการตรวจสอบ (Inspection Drone) โดรนแปรอักษร (Swarm Drone) และยานยนต์ใต้น้ำบังคับระยะไกล (Observation-class Remotely Operated Underwater Vehicle: OBS-ROV)
ส่วนแผนงานในปี 2563 จะพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับการใช้งานจริง ได้แก่ หุ่นยนต์อัตโนมัติใต้น้ำตรวจสอบท่อส่งปิโตรเลียมและโครงสร้างใต้น้ำ (Inspection-class Autonomous Underwater Vehicle: IAUV) หุ่นยนต์ซ่อมบำรุงท่อใต้น้ำ (Subsea Flowline Control and Repair Robot: SFCR) และหุ่นยนต์ตรวจสอบภายในท่อ (In-pipe Inspection Robot) รวมทั้ง ยังมีแผนพัฒนาอีกกว่า 30 โครงการให้บริการเชิงพาณิชย์ในปีถัด ๆ ไปอีกด้วย