สนธิรัตน์ เร่งนโบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า เต็มรูปแบบปี 64
สนธิรัตน์ เร่งขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ย้ำปี 64 พัฒนาเต็มรูปแบบ เผย 5 ปีที่ผ่านมาคนไทยนิยมใช้รถยนต์ EV เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2562 จดทะเบียนพุ่งแล้วกว่า 24,000 คัน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้แนวโน้มในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับทิศทางของเทคโนโลยีประหยัดพลังงานและกระแสลดการใช้น้ำมันที่ก่อมลพิษ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ระดมความร่วมมือทุกภาคส่วน จัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ทั้งสถานีให้บริการและอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้า ฯลฯ
ทั้งนี้ ตามข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก พบว่า ณ เดือนกันยายน 2562 มีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนแล้วสูงถึง 24,380 คัน ขณะที่ในปี 2561 มีจำนวน 20,484 คันและปี 2557 จำนวน 9,585 คัน
สำหรับโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับภาครัฐและเอกชน เป็นแนวทางสำคัญได้เริ่มตั้งแต่ปี 2559-2563 นำร่องการใช้งานกลุ่มรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้าและเตรียมพร้อมสู่รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล โดยในปี 2564 จะขับเคลื่อนอย่างเต็มรูปแบบ มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการการอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ การพัฒนาระบบบริหารความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ร่วมกับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (Vihicle to Grid)
กระทรวงพลังงานได้เร่งพัฒนาระบบต่างๆ รองรับความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่และต้องใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ โดยเชื่อว่าหากปริมาณคนไทยหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามีมากขึ้น เมืองจะพัฒนาสู่การเป็น Smart City สร้างความสะดวกในการใช้ชีวิต ประหยัดพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษด้วย
ทั้งนี้ ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558-2579 (Energy Efficiency Plan : EEP 2015) กระทรวงมีเป้าหมายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงปี 2579 รวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านคัน ทั้งในรูปแบบยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริดและยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่
นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่กระทรวงพลังงานจะต้องเร่งพัฒนาต่อไปคือการยกระดับอุตสาหกรรมไฟฟ้าในอนาคต เพื่อรองรับความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่มากขึ้นจากภาคขนส่งและรถ EV พร้อมส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยพัฒนา เช่นขณะนี้ ปตท. โดยสถาบันวิทยสิริเมธี ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดตั้งโรงงานต้นแบบผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและลิเธียมซัลเฟอร์ (กำลังผลิต 500 ก้อนต่อวัน) และนำแบตเตอรี่ไปทดสอบกับรถยนต์และเรือไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า แล้ว
นอกจากนั้น กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตระบบกักเก็บพลังงาน ประเภทแบตเตอรี่เป็นอุตสาหกรรมอนาคตของประเทศ ซึ่งสะท้อนจากปริมาณการความนิยมใช้รถยนต์ EV ที่สูงขึ้นตลอดเวลา รวมทั้งแนวทางในการจัดการกับแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว สอดคล้องกับทิศทางประเทศไทยที่จะก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง