สมคิด ดัน ปตท.หัวหอกช่วยเศรษฐกิจฐานราก
สมคิด มอบนโยบายกระทรวงพลังงาน มุ่งสู่ ฮับพลังงานอาเซียน ผลักดัน ปตท. เป็นหัวหอกช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร การสนับสนุน Start Up ด้านพลังงาน และการใช้ Big Data เชื่อมสนองความต้องการของประชาชน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมามอบนโยบายแก่กระทรวงพลังงาน โดยระบุว่า การจัดหาพลังงานมีความสำคัญ เพราะไม่ใช่เพียงการบริหารพลังงานแหล่งปิโตรเลียมในประเทศเท่านั้น ในเชิงยุทธศาสตร์ต้องมองระดับภูมิภาคด้วย เพราะไทยอยู่ในตำแหน่งภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ สามารถเป็นศูนย์กลางเป็นผู้นำด้านพลังงานอาเซียนได้
ส่วนกองทุนด้านพลังงานที่มีอยู่ เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งอดีตเคยแบกหนี้นับแสนล้านบาท ปัจจุบันราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาลง มีเงินสะสมอยู่ในกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งรวมถึงกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ก็น่าจะใช้เวลาช่วงนี้เป็นโอกาสนำงบที่มีอยู่ตามกองทุนพลังงานต่างๆ ไปพัฒนานโยบายด้านพลังงานทางเลือกเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เพราะการพึ่งพาฟอสซิลคงอยู่ไม่ได้นานถึง 20 ปี
สำหรับเรื่องการดูแลค่าครองชีพด้านพลังงาน เป็นมิติด้านเศรษฐกิจที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มอบเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะเรื่องค่าพลังงาน หรือแม้แต่ระบบภาษีจะใช้มาตรฐานเดียวกันระหว่างคนมีรายได้น้อย กับคนรวยเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เราจะใช้มาตรฐานแบบต่างชาติกำหนดไม่ได้ ควรดูให้เหมาะกับทางปฏิบัติกับสังคมไทยมากกว่า
พร้อมมอบภารกิจ ให้ ปตท. และรัฐวิสาหกิจในเครือเป็นหัวหอกด้านการจัดทำโมเดลธุรกิจให้ชาวบ้านหรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น ผ่านช่องทางปั๊มน้ำมันของปตท. โดยเปิดให้เป็นสถานที่กลางในการซื้อขายสินค้าของชาวบ้าน และให้ ปตท. เดินหน้านโยบายรัฐบาลในโครงการปุ๋ยสั่งตัดช่วยเหลือเกษตรกร และ สร้างห้องเย็นแช่ผลไม้ในแหล่งที่เป็นศูนย์กลาง ที่จ.ระยอง และชุมพร เพื่อแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดในระยะยาว
นอกจากนั้นยังให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัทปตท.เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนเงินลงทุนให้กับกลุ่มสตาร์ทอัพของประเทศ และสตาร์ทอัพด้านพลังงาน
และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพลังงาน ประสานงานกับนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เพื่อเก็บข้อมูลในด้านต่างๆ เป็นบิ๊กดาต้าของประเทศ สำหรับต่อยอดการช่วยเหลือคนยากจนต่อไป
“เรื่อง Big Data ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลเหมือนตาบอดคลำช้าง มีข้อมูลต่างๆที่ยังไม่เชื่อมโยงอย่างจริงจัง ประกอบกับมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้จำนวนน้อย แต่ปัจจุบันมีกลไกต่างๆ ในการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น ทั้งระบบพร้อมเพย์ที่กำลังพัฒนาได้ทั้งรับและจ่าย บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้จะเริ่มเชื่อมโยงกันได้มากขึ้น จะทำให้การวางนโยบายตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ตรงจุดมากขึ้น”