กฟน. ขับเคลื่อน มหานครอัจฉริยะ
กฟน.เดินหน้าโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน พร้อมเป็นผู้นำขับเคลื่อนมหานครอัจฉริยะ
นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ กฟน. ยังคงเดินหน้าโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ในพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจตามแผนงาน พร้อมเป็นผู้นำประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดระเบียบสายสื่อสาร และขับเคลื่อนการเป็น “มหานครอัจฉริยะ Smart Metro Grid” โดยเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินแล้วเสร็จ รวมทั้งสิ้น 46.6 กิโลเมตร
และอยู่ระหว่างดำเนินการ 169 กิโลเมตร ซึ่งโครงการที่จะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2562 ได้แก่ โครงการถนนพิษณุโลก ถนนนครสวรรค์ (แยกนางเลิ้ง ถึง แยกเทวกรรม) และถนนเพชรบุรี (แยกยมราช ถึง แยกอุรุพงษ์) รวมระยะทาง 0.3 กิโลเมตร และโครงการถนนนานา (ช่วงถนนสุขุมวิท ถึง คลองแสนแสบ) รวมระยะทาง 0.75 กิโลเมตร โดยรื้อถอนเสาไฟฟ้าแล้วเสร็จ ภายในเดือนนี้ครับ ส่วนโครงการถนนสาธุประดิษฐ์ และถนนสว่างอารมณ์ รวมระยะทาง 2 กิโลเมตร และโครงการถนนวิทยุ รวมระยะทาง 2.1 กิโลเมตร กำหนดรื้อถอนเสาไฟฟ้าแล้วเสร็จ ในเดือนธันวาคมนี้
นอกจากนี้ ยังมีการขยายการก่อสร้างอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้าใจกลางเมือง ได้แก่ ถนนชิดลม ถึง ถนนสารสิน (ตลอดแนวถนน) และถนนเพลินจิต (จากสี่แยกชิดลม ถึงสี่แยกเพลินจิต) และพัฒนาเทคโนโลยีอันทันสมัยด้วย MEA Smart Life Application เพื่อให้บริการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 1.5 ล้าน ครั้ง
และ พัฒนาการแจ้งข้อมูลการดับไฟฟ้าเพื่อปฏิบัติงานในรูปแบบออนไลน์ และกำลังพัฒนาระบบแจ้งประกาศดับไฟ 1 ต่อ 1 เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งข้อมูลตรงเป้าหมายเฉพาะบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฟน. ได้จัดทำ MEA EV Application ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันเพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการตรวจสอบสถานีอัดประจุไฟฟ้า การจองหัวชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
พร้อมกันนั้น ยังส่งเสริมให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการจ่ายไฟฟ้าให้กับสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ซึ่งปัจจุบัน กฟน. มีสถานีอัดประจุไฟฟ้ารวม 12 สถานี และขยายเพิ่มเติมเป็น 21 สถานีภายในปี 2562
ขณะเดียวกัน กฟน. ได้ปรับปรุงข้อบังคับอัตราค่าบริการการขอใช้ไฟฟ้าโดยยกเว้นการเรียกเก็บค่าบริการขอใช้ไฟฟ้า ทั้งการขอใช้ไฟฟ้าใหม่หรือการเปลี่ยนแปลงขนาดการใช้ไฟฟ้าให้แก่ผู้ขอใช้ไฟฟ้าทุกประเภท และยังได้ยกเว้นค่าบริการตรวจสอบสายใน หากติดตั้งสายไฟฟ้าภายในจากผู้รับเหมาที่ขึ้นทะเบียนกับ กฟน.อีกด้วย
นอกจากนั้น กฟน. ยังร่วมลงนามความร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กฟน. ได้ลงนามความร่วมมือการพัฒนาระบบจ่ายไฟฟ้าและนวัตกรรม รองรับโครงการเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ (CHULA Smart City) กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา กฟน. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า เพื่อรองรับการเป็นเมืองอัจฉริยะในเขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ระหว่าง กฟน. กับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์แก่ประชาชนและภาคเอกชนสูงสุด
รวมถึงการร่วมดำเนินการศึกษาการใช้ประโยชน์ด้านข้อมูลการใช้พลังงาน ความต้องการด้านการบริการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้งานในการพัฒนาระบบการบริการด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เพื่อรองรับการพัฒนากรุงเทพมหานครสู่มหานครอัจฉริยะ (Smart Capital) ที่ช่วยให้การใช้ชีวิตมีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาการเดินทางของประชาชน พร้อมกับสร้างความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้น ตลอดจนมีการเตรียมความพร้อมระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง ด้วยการก่อสร้างสถานีไฟฟ้า ประเภท “Bulk Substation” จำนวนอย่างน้อย 2 สถานี และการควบคุมระบบไฟฟ้าผ่านศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้ากลางของ กฟน. แบบ Real Time เพื่อรองรับการเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทุกสาย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ.