ขึ้นราคาก๊าซ NGV ยอดใช้ตก ปั๊มทยอยปิดตัว
พลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมัน ครึ่งแรกของปี 62 เบนซิน-ดีเซล-LPG เพิ่มขึ้น ส่วน NGV ลดลง 10.8% เนื่องจากมีการปรับราคา NGV ส่งผลให้สถานีบริการ NGV ทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง
รายงานข่าวจากกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยถึงภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันช่วงครึ่งแรกของปี 62 (ม.ค.-มิ.ย.) ว่า เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 61 โดยกลุ่มน้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้น 3.9% กลุ่มดีเซลหมุนเร็ว เพิ่มขึ้น 1.1% น้ำมันอากาศยานเจทเอ 1 เพิ่มขึ้น 0.01% และ LPG เพิ่มขึ้น 1.8% ขณะที่ NGV ลดลง 10.8%
การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 32.11 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะน้ำมันกลุ่มเบนซินเกือบทุกชนิด ยกเว้นน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ 91 โดยน้ำมันเบนซินมีการใช้ลดลงเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 1.0 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 12.5% และแก๊สโซฮอล์ 91 มีการใช้ลดลงเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 9.64 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 5.7%
สำหรับภาพรวมการใช้น้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.11 ล้านลิตร/วัน คิดเป็น 4.5% โดยแก๊สโซฮอล์อี 20 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมากที่สุด อยู่ที่ 6.43 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 14.2% เนื่องจากมีราคาต่ำกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.95 บาท/ลิตร จึงจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้เพิ่มขึ้น
รองลงมาเป็นแก๊สโซฮอล์ อี85 มีปริมาณการใช้ เฉลี่ยอยู่ที่ 1.30 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 13.9% แก๊สโซฮอล์ 95 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 13.74 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 7.5% และแก๊สโซฮออล์ 91 มีปริมาณการใช้ที่ลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 9.64 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 5.7% เนื่องจากราคาแก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 ใกล้เคียงกันโดยมีส่วนต่างเพียง 0.27 บาท/ลิตร จึงทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้น้ำมันชนิดที่มีค่าออกเทนสูงกว่า
ส่วนการใช้กลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 66.10 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) มีปริมาณการใช้ลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 64.45 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 1.4% น้ำมันดีเซล หมุนเร็ว บี10 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 0.002 ล้านลิตร/วัน (เริ่มมีการจำหน่ายปลายเดือนพ.ค.62 ในเดือนมิ.ย. 62 มีการใช้อยู่ที่ 0.33 ล้านลิตร) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.64 บาท/ลิตร (เริ่มมีการจำหน่ายตั้งแต่เดือน ก.ค.61) โดยการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี10 และบี20 มีมาตรการราคากำหนดส่วนต่างราคาขายปลีกให้ถูกกว่าดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) อยู่ที่ 1 และ 5 บาท/ลิตร ตามลำดับ
การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 19.66 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 0.01% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่การใช้ LPG เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 17.86 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการใช้ภาคปิโตรเคมีที่มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 7.39 ล้านกก./วัน คิดเป็น 11.1% สำหรับการใช้ในสาขาอื่นๆ มีปริมาณการใช้ลดลง โดยภาคครัวเรือน มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 5.76 ล้านกก./วัน คิดเป็น 2.9% ภาคอุตสาหกรรม มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 1.81 ล้านกก./วัน คิดเป็น 3.0% และภาคขนส่งลดลงมากที่สุด มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 2.90 ล้านกก./วัน คิดเป็น 12.0%
ด้านการใช้ NGV เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 5.62 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลต่อเนื่องจากมีการปรับราคา NGV สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไปให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการใช้น้ามันดีเซลหมุนเร็ว บี20 สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ทำให้ประชาชนและรถบรรทุกสินค้าหันไปใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์และดีเซลหมุนเร็วบี 20 ทดแทน ส่งผลให้สถานีบริการ NGV นอกแนวท่อทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
สำหรับการนำเข้าส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ มีปริมาณนำเข้ารวมลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเฉลี่ย 6 เดือน อยู่ที่ 933 พันบาร์เรล/วัน ลดลง 2.2% โดยมีมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบ คิดเป็น 61,028 ล้านบาท/เดือน สำหรับน้ำมันสำเร็จรูปมีปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 82 พันบาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 12.5% และมีมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 5,394 ล้านบาท/เดือน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า มีการนำเข้าน้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา และน้ำมันอากาศยานเพิ่มมากขึ้น
ในขณะที่การนำเข้าเบนซินและ LPG ลดลง เนื่องจากมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นและ Emergency Shutdown ทำให้ต้องลดปริมาณการนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นกระทบต่อปริมาณการผลิตของผลิตภัณฑ์ทุกชนิดรวมถึง LPG ด้วย ท้าให้ต้องมีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อไม่ให้กระทบต่อความต้องการใช้ในประเทศ
ขณะที่การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2561 อยู่ที่ 171 พันบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 10.7% โดยมีมูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ย 11,701 ล้านบาท/เดือน โดยพบว่า มีการส่งออกน้ำมันเบนซิน ดีเซลพื้นฐาน และ LPG ลดลง ในขณะที่มีการส่งออกน้ำมันเตา น้ำมันอากาศยานและก๊าด เพิ่มขึ้น