พพ.ปรับแผน AEDP 2018 เพิ่มโรงไฟฟ้าขยะเป็น 900 MV
พพ.จับมือ สนพ. แจง เป้าหมาย AEDP 2018 ตามแผน PDP 2018 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 เพิ่มโรงไฟฟ้าขยะจาก 500 เมกะวัตต์ เป็น 900 เมกะวัตต์ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจัดการขยะ เตรียมรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศ ส.ค.นี้
หลังจาก ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 มีมติเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2018) ล่าสุด นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ พพ. อยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 (AEDP 2018) ให้สอดคล้องกับแผน PDP 2018 โดยแผนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานงานทดแทน จะมีการปรับเป้าหมายให้สูงขึ้นจากแผน AEDP 2015
ทั้งนี้ในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ ตามแผนเดิมในปี 2579 จะติดตั้งให้ได้รวม 6,000 เมกะวัตต์ โดยในสิ้นปี 2560 ได้ดำเนินการแล้ว 2,849 เมกะวัตต์ ในแผนใหม่จะติดตั้งระหว่างปี 2561 – 2580 อีก 12,725 เมกะวัตต์ (โซล่าร์รู๊ฟท๊อปกับโซล่าร์แบบทุ่นลอยน้ำ) รวมมีเป้าหมาย สิ้นปี 2580 อยู่ที่ 15,574 เมกะวัตต์
พลังงานชีวมวล แผนเดิมอยู่ที่ 5,570 เมกะวัตต์ โดยสิ้นปี 2560 ดำเนินการแล้ว 2,290 เมกะวัตต์ มีแผนจะติดตั้ง ระหว่างปี 2561 – 2580 อีก 3,496 เมกะวัตต์ รวมมีเป้าหมาย สิ้นปี 2580 อยู่ที่ 5,786 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ในแผน AEDP 2018 จะมีการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่ไม่มีในแผน AEDP 2015 คือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 2,725 เมกะวัตต์ และมีการเพิ่มเป้าหมายของโรงไฟฟ้าขยะจากเดิม 500 เมกะวัตต์ เป็น 900 เมกะวัตต์ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจัดการขยะซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการจัดทำแผน AEDP 2018 ในภาพรวมนั้น ปัจจุบัน พพ. อยู่ระหว่างเตรียมพร้อมจัดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั่วประเทศ คาดว่าในเดือนสิงหาคม 2562 จะเริ่มดำเนินการได้
ด้าน นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่า ตามเป้าหมายของแผน PDP 2018 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าในปี 2580 จำนวน 77,211 เมกะวัตต์ ซึ่งจากเป้าหมายนี้จะต้องมีการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า 56,431 เมกะวัตต์ รวมทั้งจะพัฒนาระบบผลิตและส่งไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนที่เพิ่มมากขึ้นและเกิดความมั่นคงทางพลังงาน และแนวทางการพัฒนาพลังงานทดแทน เบื้องต้นจะกำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ซึ่งจะเป็นระดับที่สร้างความสมดุลการผลิตไฟฟ้า และการใช้ไฟฟ้า เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศในอนาคตต่อไป.