บี.กริม ลุย COD โรงไฟฟ้าโซลาร์เวียดนาม
บี.กริม เดินหน้าทยอยจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งสองแห่งในเวียดนามรวม 677 เมกะวัตต์ พร้อมเล็งซื้อกิจการโรงไฟฟ้าต่างประเทศ สิ้นปีนี้
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ หรือ ‘BGRIM’ เปิดเผยว่า โครงการ DAU TIENG 1 และ DAU TIENG 2 (DT1&2) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 420 เมกะวัตต์ ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนได้เปิดจำหน่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ให้แก่ Electricity of Vietnam (EVN) แล้วเมื่อวันที่ 3 และ 13 มิถุนายน ตามลำดับ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Phu Yen TTP ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 257 เมกะวัตต์ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้เปิดจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ให้แก่ EVN แล้วเช่นกันเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นการ COD ก่อนกำหนดทั้ง 2 โครงการ โดยเริ่มรับรู้รายได้แล้วภายใต้สัญญาการรับซื้อไฟฟ้าในอัตรา Feed-in-Tariff (FiT) 9.35 เซ็นดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 20 ปี
สำหรับการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของทั้ง 2 โครงการรวมกำลังการผลิต 677 เมกะวัตต์นี้ ทำให้กำลังการผลิตที่เปิดดำเนินการแล้วของ บี.กริม. เพาเวอร์เติบโตถึง 31% โดยมีสัดส่วนกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนเพิ่มเป็น 30% จากเดิมประมาณ 10% ส่งผลให้ บี.กริม เพาเวอร์ ‘BGRIM’ มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์รวมทั้งสิ้น 45 โครงการ โดยเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 17 โครงการ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 24 โครงการ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3 โครงการ และ โรงไฟฟ้าพลังงานดีเซล 1 โครงการ มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 2,892 เมกะวัตต์ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาอีก 11 โครงการ ซึ่งจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปี 2568 ทำให้กำลังการผลิตรวมทั้งหมดเพิ่มเป็น 3,245 เมกะวัตต์
นอกจากนั้น บี.กริม เพาเวอร์ ยังรุกหาโอกาสขยายการลงทุนต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายกำลังการผลิต 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565 โดยในต่างประเทศนั้น บี.กริม เพาเวอร์ ได้รับโอกาสจากรัฐบาลเวียดนามให้เป็นผู้ศึกษาและพัฒนาพลังงานทดแทนเพิ่มเติม ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมอีกหลายโครงการ
ทั้งนี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปการลงทุนภายในปลายปีนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการร่วมมือกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในโครงการอีกหลายแห่งใน ประเทศเกาหลีใต้ มาเลเซีย กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ทั้งในรูปแบบของการสร้างโครงการใหม่และการเข้าซื้อกิจการด้วย