โรงไฟฟ้าไซยะบุรี 1,220 MV เดินเครื่อง ต.ค.นี้
CKP เตรียม COD โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีขายไฟฟ้า 1,220 เมกะวัตต์ให้ กฟผ.ภายในเดือน ต.ค.นี้ รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงและสภาวะฉุกเฉินกรณีที่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ข้างเคียงเกิดขัดข้อง
นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP กล่าวว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ได้ออกหนังสือรับรองความพร้อมในการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 7 เครื่อง กำลังการผลิตรวม 1,220 เมกะวัตต์ ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายหลังที่บริษัทได้ทยอยเดินเครื่องทดสอบระบบการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของ กฟผ.เป็นไปอย่างราบรื่น และบริษัทมั่นใจพร้อมส่งไฟฟ้าสะอาดสู่ประเทศไทยภายในเดือนต.ค.นี้ อย่างแน่นอน
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบฝายน้ำล้นแห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งอยู่ในแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 1,285 เมกะวัตต์ โดยอยู่ในสัญญาการซื้อขายไฟให้แก่ กฟผ.ทั้งหมด 1,220 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ 7,370 ล้านหน่วยต่อปี จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดเครื่องละ 175 เมกะวัตต์ จำนวน 7 เครื่อง โดยส่งเข้าสู่ประเทศไทยด้วยสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์จาก สปป.ลาว เข้าทาง อ.ท่าลี่ จ.เลย และส่งให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว(EdL) จำนวน 1 เครื่อง ขนาด 60 เมกะวัตต์ ด้วยขนาดสายส่ง 115 กิโลโวลต์ภายใน สปป.ลาว
นายธนวัฒน์ กล่าวว่า ข้อดีของโรงไฟฟ้าพลังน้ำช่วยรักษาเสถียรภาพการจ่ายไฟในระบบของ กฟผ.โดยการทดสอบระบบพร้อมกันทั้ง 7 เครื่อง มีทั้งแบบทดสอบสมรรถนะการเดินเครื่องแยกเป็นเครื่องๆ(Individual Test) และทดสอบเดินเครื่องพร้อมกันเป็นชุด โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สามารถเดินเครื่องแบบมีความยืดหยุ่นสูง ซึ่ง CKPower ผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี มั่นใจว่าเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ไม่มีผลกระทบต่อท้ายน้ำ อีกทั้งยังคงสภาพทางธรรมชาติตลอดเวลา ไม่ว่าจะผลิตไฟฟ้าหรือไม่ก็ตาม
และเพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้ถือหุ้นและกลุ่มนักลงทุน นอกจากการเปิดขายไฟเชิงพาณิชย์ได้ทันตามเวลาอย่างพร้อมสมบูรณ์แล้ว แนวทางการลงทุนด้านไฟฟ้าพลังน้ำของ CKPower ยังคงคำนึงถึงการพัฒนาโรงไฟฟ้าที่อยู่บนความสมดุลระหว่างธุรกิจและสิ่งแวดล้อม เป็นอันดับแรกของการบริหารโครงการด้วยมูลค่าการลงทุนเพื่อรักษาระบบนิเวศของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สูงถึง 19,000 ล้านบาท มีการศึกษาก่อนเริ่มโครงการและเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในโลก โดยมีธรรมชาติเป็นต้นแบบ
นอกจากนี้ยังคงเดินหน้าพัฒนาระบบการดูแลสิ่งแวดล้อมต่อไป เพื่อให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นมาตรฐานที่สำคัญว่าหากจะลงทุนผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงต้องกล้าที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่กันด้วยถึงจะทำให้การผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงนั้นยั่งยืน
“โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำชนิดฝายทดน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมูลค่าลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมสูงเป็นประวัติการณ์ มีความทันสมัยด้วยประตูระบายตะกอนแขวนลอยและตะกอนหนักใต้น้ำ มีเทคโนโลยีทางปลาผ่านที่ทันสมัย ที่สำคัญคือศึกษาบนลำน้ำโขงด้วยพันธุ์ปลาน้ำโขงทั้งหมด ถือว่าเป็นการศึกษาพฤติกรรมปลาน้ำโขงที่ต่อเนื่องและมีข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุดของโลกในขณะนี้” นายธนวัฒน์ กล่าว