บีโอไอ ผลักดันผู้ผลิตชิ้นส่วน สู่ อุตฯระบบราง
บีโอไอ ยกกระดับการผลิตชิ้นส่วนไทย สู่ อุตสาหกรรมระบบราง รับแผนยุทธศาสตร์พัฒนาระบบราง และอุตสาหกรรมสนับสนุน ของไทยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์เชื่อมโยงกับภูมิภาค
นางสาวบงกช อนุโรจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “อนาคตผู้ประกอบการไทยกับการผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมระบบราง” ว่า อุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมสนับสนุน เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาขึ้นในประเทศ โดยเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต”
ทั้งนี้ ในแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย มีโครงการระบบรางใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก เช่น การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นต้น
“โครงการเหล่านี้ทำให้เกิดความต้องการใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากขึ้น ทั้งตัวตู้รถไฟ อุปกรณ์ชานชาลา ระบบราง ระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับรถไฟ ระบบอาณัติสัญญาณ รวมถึงการผลิตชิ้นส่วนทั้งโออีเอ็ม และอะไหล่ทดแทน ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้มากขึ้น” นางสาวบงกชกล่าว
บีโอไอโดยกองพัฒนาและเชื่อมโยงการลงทุน (กพช.) ได้มีการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสนับสนุนและสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้เติบโตและมีศักยภาพมากขึ้น และมีโอกาสเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการรายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อากาศยาน และเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น
สำหรับการจัดสัมมนาอุตสาหกรรมระบบรางครั้งนี้นับเป็นการจัดครั้งแรก เพื่อเป็นเวทีกลางให้ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมระบบราง รวมทั้งสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบราง เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากจะมีการนำเสนอข้อมูลแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศไทย ความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ โดยผู้แทนจากกรมการขนส่งทางราง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แล้ว ยังมีการจัดแสดงชิ้นส่วนและอุปกรณ์ระบบราง โดยสมาคมอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตไทย (ซับคอน ไทยแลนด์) ด้วย
สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมระบบรางนั้น บีโอไอได้เปิดให้การส่งเสริมใน 2 ส่วน คือกิจการขนส่งทางราง และกิจการผลิตและ/หรือซ่อมรถไฟ ชิ้นส่วน หรืออุปกรณ์ระบบราง โดยมีสิทธิประโยชน์ ดังนี้
กิจการขนส่งทางราง จะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
กิจการผลิตและ/หรือซ่อมรถไฟ ชิ้นส่วน หรืออุปกรณ์ระบบราง จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 – 8 ปี โดยมี 3 กลุ่ม ได้แก่
1) กิจการผลิตขบวนรถและ/หรือตู้รถ เช่น ตู้รถโดยสาร ตู้สินค้า เป็นต้น จะได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
2) กิจการซ่อมรถไฟ หรือชิ้นส่วน หรืออุปกรณ์สำหรับระบบราง ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี
3) กิจการผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์สำหรับระบบราง ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี โดยต้องมีขั้นตอนการผลิตตามที่คณะกรรมการเห็นชอบ
“การส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบราง จะช่วยพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทย ช่วยพัฒนาขีดความสามารถของผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ และสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทย ขณะเดียวกันจะช่วยให้มีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ การพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางยังจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในอาเซียน เชื่อมโยงการค้า และการลงทุนในภูมิภาคอีกด้วย” นางสาวบงกชกล่าว