บี.กริม เพิ่มลงทุนธุรกิจไฟฟ้าเวียดนาม ศก.โต
BGRIM เตรียมขยายลงทุนธุรกิจไฟฟ้า ในเวียดนามเพิ่ม เนื่องจากศักยภาพการเติบโตของเวียดนาม ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศอยู่ในระดับสูง และรัฐบาลยังให้การสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานจากบริษัทต่างชาติด้วย
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BRIGM) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในเวียดนาม หลังจากที่มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ในเวียดนามรวมแล้ว 677 เมกะวัตต์ (MW) เนื่องจากศักยภาพการเติบโตของเวียดนาม ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศอยู่ในระดับสูง และรัฐบาลก็ยังให้การสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานจากบริษัทต่างชาติด้วย โดยเวียดนามมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 7% และมีการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) ในอัตราที่สูง ประกอบกับบริษัทก็มีความสัมพันธ์อันดีต่อประเทศเวียดนามด้วย
ทั้งนี้ เวียดนามมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในประเทศเป็น 21% จากปัจจุบันอยู่ในระดับไม่ถึง 10% ซึ่งบริษัทมองว่ายังมีโอกาสขยายการลงทุนทางด้านพลังงานทดแทนทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุน รวมถึงการศึกษาการลงทุนธุรกิจพลังงานจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ด้วย
อย่างไรก็ดีการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในต่างประเทศจะต้องทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ และการบริหารความเสี่ยงเป็นอย่างดี ซึ่งบริษัทมีประสบการณ์กว่า 20 ปีในการลงทุนโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้เบียนหัว ที่มีลูกค้าจำนวนราว 160 ราย ทำให้สามารถเข้าใจการทำงานได้เป็นอย่างดี
บริษัทยังมีการศึกษาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาหลายโครงการขนาดกำลังการผลิตรวมราว 700 เมกะวัตต์ อาทิ การลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม , การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่ทดแทนฉบับเดิมที่จะหมดอายุลง (SPP replacement) และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาการร่วมทุน (M&A)
นอกจากนี้รัฐบาลไทยมีแผนเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนจากปัจจุบันอยู่ที่ 20% ของพลังงานทั้งหมด โดยบริษัทมองว่าเป็นโอกาสในการขยายการลงทุนสอดคล้องกับเทรนด์โลก อย่างไรก็ดีจะต้องมองถึงบริบทภาพรวมในการบริหารจัดการพลังงานทดแทนเพื่อไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพมั่นคงของระบบส่งเดิมเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ
ส่วนนโยบายการสนับสนุนโรงไฟฟ้าชุมชนของรัฐบาลบริษัทมองว่า หากมีโอกาสก็จะเข้าร่วมซึ่งมองว่าเป็นนโยบายที่ดีและเป็นการกระจายความเจริญไปสู่ชนบทสอดคล้องกับค่านิยมของบริษัทที่ต้องการทำประโยชน์เพื่อสังคมแม้มีความสามารถการทำกำไรไม่มากนัก