กบง.ชี้ชะตา กฟผ.นำเข้า LNG 1.5 ล้านตัน
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2019/09/708735a6045ea946f15a9c7c16f10424_XL.jpg)
บอร์ด กบง.นัดชี้ชะตา นำเข้า LNG จำนวน 1.5 ล้านตันต่อปีของ กฟผ.พรุ่งนี้(30 ส.ค.) หลังกังวลปัญหา Take-or-Pay ซื้อก๊าซLNG มาแล้วไม่ได้ใช้ก็ต้องจ่ายเงิน กระทบค่าไฟฟ้าประชาชน
รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในวันพรุ่งนี้ (30 ส.ค.) จะพิจารณาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หลังจากมีการประเมินว่าการนำเข้า LNG ของ กฟผ.ในช่วงที่ความต้องการใช้ก๊าซ LNG ยังไม่มากนัก จะทำให้เกิดกรณี Take-or-Pay (ซื้อก๊าซLNG มาแล้วไม่ได้ใช้ก็ต้องจ่ายเงิน) ที่กำหนดไว้ในสัญญานั้น จะกระทบต่อราคาก๊าซของไทยระบบราคารวม (พูล ไพรซ์) ที่อิง กับราคาก๊าซในประเทศและราคานำเข้าที่จะปรับขึ้นประมาณ 2 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าปรับขึ้นประมาณ 2 สตางค์ต่อหน่วย
ทั้งนี้ กฟผ.มีแผนจะนำเข้า LNG ล็อตแรกในเดือน ก.ย.นี้ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถลงนามสัญญาซื้อขาย LNG กับบริษัทคู่ค้าที่ชนะการประมูลได้ เพราะติดปัญหาหากเกิดกรณี Take-or-Pay ซึ่งที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้พิจารณารายละเอียดการนำเข้า LNG ของ กฟผ.ที่ได้ผู้ชนะการประมูล คือ ปิโตรนาส แอลเอ็นจี จากมาเลเซีย ซึ่งปริมาณนำเข้า 0.8-1.5 ล้านตันต่อปี เป็นสัญญาที่ยืดหยุ่นได้ ไม่ก่อให้เกิดปัญหา Take or Pay ดังนั้นหาก กบง.เห็นชอบตามแนวทางที่เสนอแล้ว กฟผ.ก็จะเดินหน้านำเข้า LNG ล็อตแรกตามแผนได้ในปลายปีนี้
ซึ่ง นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้กล่าวไว้ว่า ผลการประชุมระหว่าง กกพ., กฟผ. และ ปตท. พบว่าการนำเข้าแอลเอ็นจีของกฟผ.จะไม่ส่งผลให้เกิดปัญหา Take or Pay หากมีการบริหารจัดการที่ดีในช่วงปี 2563 แต่หากเกิดกรณีเลวร้าย ความต้องการใช้ก๊าซฯ ในประเทศลดลงบางช่วง ขณะที่ปริมาณนำเข้าสูงเกินความต้องการใช้ ก็จะใช้แนวทางบริหารจัดการร่วมกัน โดยกฟผ.ปรับลดปริมาณนำเข้าในบางช่วง หรืออนุญาตให้กฟผ.สามารถนำแอลเอ็นจีส่วนเกิน ไปจำหน่ายต่อให้กับผู้ใช้ก๊าซฯ รายอื่นแทนได้ ซึ่งอาจให้ทางปตท.ช่วยประสานในการจัดจำหน่ายก๊าซฯ ให้
ขณะเดียวกัน นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้แจงประเด็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของ กฟผ.ยืนยันว่า นำเข้า LNG ของ กฟผ.จะไม่เกิดปัญหา Take or Pay เพราะได้เตรียมแผนบริหารจัดการไว้แล้ว โดยสัญญาซื้อขาย ของ กฟผ.มีความยืดหยุ่น สามารถปรับลดปริมาณการนำเข้า โดยกำหนดปริมาณไว้ระหว่าง 0.8 -1.5 ล้านตันต่อปีอีกทั้ง กฟผ.ได้เจรจากับบริษัทคู่สัญญาให้ดำเนินการขาย LNG ส่วนที่ไม่ได้ใช้ให้กับรายอื่นแทน กฟผ. ต่อไป และเชื่อว่า การเลือกซื้อ LNG ในราคาต่ำสุด ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดจากใช้ไฟฟ้าราคาถูกลงในอนาคต
ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การประชุมกบง.ในวันพรุ่งนี้ จะมีการทบทวนเรื่องการนำเข้า LNG ของกฟผ.หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวจะมีข้อสรุปโดยเร็วและคำนึงถึงนโยบายที่ไม่เป็นภาระค่าไฟฟ้าภาคประชาชน และแผนงานที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางจำหน่าย LNG ในภูมิภาคเป็นปัจจัยสำคัญ