EV-เม็ดพลาสติกยอดลงทุนพุ่งทะยาน
ก.อุตฯ เผย 2 ไตรมาส อุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ และยานยนต์ไฟฟ้า นำโด่ง สอดรับมาตรการกระตุ้นการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และยานยนต์ไร้มลพิษ
ก.อุตฯ เผย 2 ไตรมาสแรก ปีงบประมาณ 2566 อุตสาหกรรมผลิตพลาสติกชีวภาพจากเคมีภัณฑ์ และยานยนต์ไฟฟ้า เติบโตสูงสุด สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Green Tax Expense) และมาตรการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลด้าน EV ให้เกิดการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นผู้ประกอบการ หนุนการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน ส่งผลให้ยอดการลงทุนรวมในประเทศสูงถึง 112,658.60 ล้านบาท โดยเป็นการตั้งโรงงานใหม่และขยายกิจการโรงงาน จำนวน 1,211 โรงงาน และเกิดการจ้างงานใหม่ 30,603 คน
นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงการคลัง จัดทำมาตรการกระตุ้นการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Green Tax Expense) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำรายจ่ายที่ใช้ในการซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวน 1.25 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไป ในการขอรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในระหว่างปี 2565-2567 ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพเกิดการลงทุนกว่า 19,000 ล้านบาท ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566 และมาตรการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อให้เกิดการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ให้เป็นไปตามเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ไร้มลพิษ หรือ Zero Emission Vehicle : ZEV ลดการใช้น้ำมัน ลดการปล่อยไอเสีย รวมทั้งลดฝุ่น PM 2.5 ส่งผลให้การประกอบกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า มียอดการลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 1,400 ล้านบาท รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน ส่งผลให้ 2 ไตรมาสของปีงบประมาณ 2566 มียอดการลงทุนรวมในประเทศสูงถึง 112,658.60 ล้านบาท โดยเป็นการตั้งโรงงานใหม่และขยายกิจการโรงงาน จำนวน 1,211 โรงงาน และเกิดการจ้างงานใหม่ 30,603 คน
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า 2 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 2565 – มี.ค. 2566) มีการตั้งโรงงานใหม่ จำนวน 1,016 โรงงาน ยอดการลงทุน 89,427.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 29,000 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนใหม่สูงสุด คือ กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี มูลค่าการลงทุน 22,635.75 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 25.31% รองลงมา ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก มูลค่าการลงทุน 9,259.12 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 10.35% สำหรับการขยายกิจการโรงงานมีจำนวน 195 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 23,231.33 ล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนขยายกิจการสูงสุด คือ กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ มีมูลค่าการลงทุน 10,192.68 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 43.87% รองลงมา คือ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่าการลงทุน 1,930.56 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 8.31%พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การตั้งโรงงานใหม่และการขยายกิจการโรงงาน มีมูลค่าการลงทุนรวม 29,760.21 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 26.42% ของมูลค่าการลงทุนรวมทั่วประเทศ โดยกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 10,403.39 ล้านบาท และ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) การตั้งโรงงานใหม่และการขยายกิจการโรงงาน มีมูลค่าการลงทุน 37,621.13 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 33.39% ของมูลค่าการลงทุนรวมทั่วประเทศ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 14,363.55 ล้านบาท
สำหรับไตรมาสที่ 3 และ 4 คาดว่าการลงทุนจะไม่ต่ำกว่า 1.8 แสนล้านบาท จากผลของนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าดัชนีสถานการณ์การผลิตไทย (Thailand Manufacturing PMI) จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น รวมถึงการเร่งรัดการลงทุนของผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2563-2565 ที่ผ่านมา อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวปิดท้าย